สกศ. ร่วมลดเหลื่อมล้ำ สู่ เสมอภาค มุ่งพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษากลุ่มเปราะบางทางสังคม

image

วันที่ 27 กันยายน 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดเสวนาวิชาการ “เหลื่อมล้ำ สู่ เสมอภาค : ความพิเศษของกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ไม่ถูกละเลย” โดยมี ดร. ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการเรียนรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร อาจารย์ วิทยากรผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx Meetings

ดร. ประวีณา อัสโย กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนจัดการศึกษาเพื่อยกระดับ พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการศึกษาคนทุกช่วงวัย ทุกระดับ และทุกกลุ่ม จึงได้จัดโครงการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคมให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติอย่างภาคภูมิใจ 

ดังนั้นในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงเห็นความสำคัญในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง จึงเปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแบบและพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มความหลากหลายทางเพศ 2) กลุ่มชาติพันธุ์ และ 3) กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ สำหรับการเสวนาวิชาการแบ่งออกเป็น 3 ห้องย่อย ประกอบด้วยหัวข้อจาก 3 กลุ่ม ดังนี้ 
1) “กลุ่มความหลากหลายทางเพศ” หัวข้อย่อย “เรียนรู้ ยอมรับ รู้จักและเข้าใจ : แตกต่างอย่างเท่าเทียม” ณ ห้องประชุม OEC Knowledge and Data Center วิทยากรกล่าวถึงการยอมรับ ให้เกียรติในความหลากหลายทางเพศ รวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทั้งด้านสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสต่างๆ ในสังคม โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมในการรับบุตรบุญธรรม เนื่องจากความหลากที่เกิดขึ้น หน่วยงานทางด้านการศึกษาอาจต้องมองถึงการสร้างความเข้าใจ การสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เรียนที่มีครอบครัวอันประกอบด้วยอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับครูผู้สอนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่ดีให้กับผู้เรียนและไม่รู้สึกแตกต่าง

2) “กลุ่มชาติพันธุ์” หัวข้อย่อย “เรียนรู้ตามวิถี : รูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์” ณ ห้องประชุมสิปนนท์ เกตุทัต วิทยากรได้ให้แนวความคิดของความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างของเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่แตกต่างโดยแบ่งตามบริบทระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์อันเกิดจากแนวความคิดของคนในท้องถิ่นที่ผูกพัน ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ รวมถึงการขาดบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจในบริบททางวัฒนธรรม รวมถึงภาษาถิ่นของคนในพื้นที่ ดังนั้นหน่วยงานทางด้านการศึกษาควรสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น ปรับบทเรียนให้เข้ากับบริบทพื้นที่ พร้อมทั้งเสริมทักษะวิชาชีพที่เข้ากับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างความเข้าใจในความหลากหลายของวิชาชีพต่อผู้ปกครองหรือคนในท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนการสร้างบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นคนในท้องถิ่น

3) “กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ” หัวข้อย่อย “เรียนรู้ ปรับตัว เพื่อโอกาสในชีวิตใหม่” ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย วิทยากรกล่าวว่าเป็นกระบวนการสำคัญในการสนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งเป็นแนวทางในการปรับตัว พฤติกรรรม ทัศนคติให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในสถานพินิจ

โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาที่ควรคำนึงในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งปัญหาด้านสุขภาพจิตในการจัดการด้านสภาวะอารมณ์ที่เกิดจากปัจจัยรอบข้าง รวมถึงด้านการศึกษาที่ผู้เรียนขาดโอกาสในการเรียนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการไม่ได้รับคุณวุฒิการศึกษาทำให้ผู้เรียนไม่สามารถใช้ในการสมัครงานประกอบอาชีพได้ ดังนั้นหน่วยงานได้ร่วมเสนอแนวทางสำหรับผู้เรียนที่ได้เข้ารับการฝึกทักษะที่ศูนย์การเรียนรู้โดยหน่วยงานต้องให้การสนับสนุนในการประกอบวิชาชีพ พร้อมร่วมมือกับเครือข่าย สถานประกอบการ ในการรับรองการประกอบวิชาชีพ พร้อมแนะแนวทางการเชื่อมโยงหลักสูตรของศูนย์การเรียนรู้เข้าสู่ระบบ Credit Bank เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษาเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบวิชาชีพ นอกจากนั้นควรให้ความรู้ จัดอบรมครูผู้สอนก่อนเข้าทำงาน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของผู้เรียน ให้เกิดบรรยากาศในห้องเรียนที่ดี

ดังนั้น สำนักงานสภาการศึกษาพร้อมนำข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไปปรับใช้ พัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1hs_H9m3cpdymFaTModGQogn2gQRzNclz?usp=drive_link

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด