สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ SCB เสริมทักษะ Future Research และ Data Science เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
วันที่ 26 กันยายน 2567 สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างทักษะการวิจัยเชิงอนาคต (Future Research) และการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยด้วยวิทยาการข้อมูล (Data Science) โดยมี นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยนางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและการประเมินผลการศึกษา ดร. นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กรธนาคารไทยพาณิชย์ ข้าราชการ ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB10X) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีความมุ่งหมายต้องการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ พร้อมทั้งแนวทางการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการใช้ AI เป็นเครื่องมือในด้านการวิจัย รวมถึงใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้มและคาดการณ์อนาคตด้านการศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำนโยบายด้านการศึกษาให้เกิดประสิทธิผลต่อประเทศชาติมากที่สุด
ผู้แทนของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ได้นำเสนอเกี่ยวกับองค์กร EIC ซี่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ จุดประสงค์ในการก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนข้อมูลทางเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อมูลเชิงลึกประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารและบุคคลากร รวมทั้งยังเป็นพันธมิตรสนับสนุนการวิจัยและด้านธุรกิจ นำเสนองานวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจระดับมหภาค ตั้งแต่การเก็บข้อมูล ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการเพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบ ปัจจัยเสี่ยง มุมมองต่อธุรกิจในระยะยาว โดยผู้แทนจาก EIC ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กร กล่าวว่าได้นำ Generative AI มาใช้ในการจัดการงานองค์กร เพื่อให้บุคลากรใช้ AI ในการลดระยะเวลาการทำงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ใช้บริการ สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลและการประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อนำไปปรับใช้ในภาคการศึกษา สามารถใช้ในการใช้จัดการข้อมูลภายนอก (External Data) ในการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดการข้อมูลภายใน (Internal Data) ใช้ในการอัปเดตข้อมูลในหน่วยงาน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้า ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ และใช้ในการวิเคราะห์งานทางการศึกษาได้
จากนั้นผู้แทนจากทีมพัฒนา “Typhoon” (ไต้ฝุ่น) บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาการข้อมูล นักเทคโนโลยีสารสนเทศ และนักปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทีมพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model : LLM) “Typhoon” เป็นโมเดลที่พัฒนาขึ้นสำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างทางภาษา รวมถึงข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรภาษาไทยของโมเดลอื่นที่มีข้อมูลไม่มากเพียงพอ โดยได้พัฒนาขึ้นมา 2 เวอร์ชั่น ประกอบด้วย 1) Pretrained Model การป้อนข้อมูลคลังคำศัพท์ บริบท รวมไปถึงวัฒนธรรมของภาษาไทย และ 2) Instruction-tuned Model การให้โมเดลช่วยแปล สรุปความ หรือตอบคำถาม ซึ่งทางผู้พัฒนามีจุดมุ่งหมายให้ประเทศไทยมีโมเดลเป็นของตนเอง เพื่อตอบสนอง ช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ของตน พร้อมทั้งเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีขั้นสูง
จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ความสนใจในการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่รวมถึงความสามารถในการนำ AI มาปรับใช้สำหรับพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยและแนวนโยบายที่ตอบโจทย์การศึกษา และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1E19Tb9vU_eX95XkDabqkREVd8KY_R6H5?usp=drive_link