สกศ. ร่วมประชุมหารือแนวทางในการวิจัยและพัฒนาแนวทางการศึกษาของประเทศไทย

image

เมื่อวันที่ 23 และ 25 กันยายน 2567 นางสาวศศิรัศม์ วีระไวทยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศและคณะข้าราชการ สกศ. ได้รับมอบหมายจากดร. อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับสูงระดับคณะทำงานเพื่อปรึกษาหารือผ่านระบบออนไลน์ (High-level Workshop: Virtual Consultations for Thailand) ในประเด็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนาแนวทางการศึกษาของประเทศไทย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการ Country Programme (CP) ระยะที่ 2 ระหว่างไทยกับ OECD สาขาความร่วมมือ ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์ (Social Inclusion and Human Capital Development)

สำหรับโครงการย่อยภายใต้ CP ระยะที่ 2 ที่ สกศ. รับผิดชอบ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ (1) Improving the Quality of Education Statistics (รับผิดชอบร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) และ (2) Developing Skills Strategy in Thailand (รับผิดชอบร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน)

จุดประสงค์ในการหารือครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการพัฒนาทักษะผู้เรียนของประเทศไทย การประเมินผลสัมฤทธิทางการเรียนรู้ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่ง OECD เล็งเห็นว่าการข้อหารือดังกล่าวจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางโดยคำนึงถึงมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย โดยมีหัวข้อเพื่อให้ความคิดเห็น ดังนี้ 1) การเสริมสร้างทักษะของเยาวชนในการศึกษาเบื้องต้น (Strengthening the skills of youth in initial education) 2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Fostering greater participation in adult learning) และ 3) การปรับปรุงและกำกับดูแลระบบพัฒนาทักษะผู้เรียน (Improving the governance of skills systems)

คณะวิจัยของ OECD มีสังเกตเบื้องต้นต่อแนวทางในการพัฒนาทักษะในระบบการศึกษาไทย ดังนี้

1. การเข้าถึงการศึกษาขั้นต้นที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ความเท่าเทียมทางสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาประเทศโดยรวม การได้รับทักษะพื้นฐานในการศึกษาขั้นต้นสามารถช่วยให้เยาวชนได้รับทักษะระดับสูงขึ้นในภายหลัง ซึ่งจะช่วยพัฒนากำลังแรงงานที่มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น

2. การศึกษามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงและมีบทบาทสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ยังสามารถดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ในโรงเรียนและสร้างการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาคและกลุ่มประชากรทางสังคม

3. การเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult Learning) ถือเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยปรับตัวให้เข้ากับกระแสหลักของโลกได้ (เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว (Green Transition) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตของโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร) การเรียนรู้แบบผู้ใหญ่สามารถช่วยให้บุคคลต่าง ๆ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องแม้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว  ซึ่งส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราแรงงาน ลดความไม่สมดุลของทักษะ และส่งเสริมนวัตกรรมได้อย่างง่ายดาย

4. ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาและความท้าทายอย่างมากในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ให้มากขึ้น โดยรวมแล้ว อัตราการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และสัดส่วนของบริษัทฝึกอบรมบุคลากรอย่างเป็นทางการยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน โดยอัตราการให้บริการลดลงอย่างมากและขนาดขององค์กรลดลง

5. การกำกับดูแลระบบทักษะที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลในการประสานงานและร่วมมือกันในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและการดำเนินการระหว่างกระทรวงและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานระดับรองลง (กรม หรือหน่วยงานอื่นๆที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นและฐานะเทียบเท่ากรม และหน่วยงานในกำกับระดับรองลงมา) การมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่ภาครัฐต้องออกแบบและดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี การกำกับดูแลที่เข้มแข็งยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิผลในการกำหนดนโยบาย ตลอดจนการเปิดกว้างของข้อมูลที่ผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้

ประเทศไทยและ OECD มีความร่วมมือมายาวนานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 ที่ไทยเข้าร่วมโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) และมีความร่วมมือที่เข้มแข็งมากขึ้นในปี 2561 เป็นต้นมา ผ่านการดำเนินโครงการ OECD-Thailand Country Programme (CP) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ส่งเสริมการปฏิรูปของไทยหลากหลายสาขา อาทิ หลักธรรมาภิบาล ขีดความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทุนมนุษย์ และการฟื้นฟูสีเขียว โดยปัจจุบันไทยและ OECD อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด