สกศ. ร่วมระดมความเห็น เตรียมความพร้อมกิจกรรม Hackathon และ กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ.2567-2570 เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ

image

วันที่ 19 กันยายน 2567 สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านศึกษา ครั้งที่ 2/2567 โดยมี ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วยนางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและการประเมินผลการศึกษา กล่าวรายงานการประชุม ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานผลการประชุมต่อคณะอนุกรรมการฯ 3 เรื่อง ดังนี้ 
1) การประชุมกรรมการสภาการศึกษา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 โดยได้รายงานความก้าวหน้าแนวทางการดำเนินงานการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น 
2) การประชุมกรรมการสภาการศึกษานานาชาติ เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม – 2 สิงหาคม 2567 โดย สกศ. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ พบว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อการศึกษามี 4 ประเด็นหลักได้แก่ (1) สภาพสังคมและวัฒนธรรม (2) สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (3) สภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (4) สภาพเศรษฐกิจ
3) การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน วันที่ 23-26 สิงหาคม 2567 ได้ร่วมหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และ อาเซียนกับประเทศคู่เจรจา พร้อมทั้งได้ประชุมหารือทวิภาคีร่วมกับสำนักงานการศึกษาอินชอน โดยร่วมพิจารณาโอกาสการสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในประเด็นสำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนครูผู้สอน การแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาทั้งด้านข้อมูลละเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมในทุกมิติ

จากนั้นได้ร่วมพิจารณา การนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) : การเตรียมจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon) โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินงาน พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการในการนำชุดทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชนไทยไปปรับเข้ากับหลักสูตรการจัดการศึกษา ฝ่ายเลขานุการฯ ได้กล่าวถึงการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การนำร่องในสถานศึกษา และ 2) การจัดแฮกกาธอน (Hackathon) ซึ่งเป็นกิจกรรมการรวมกลุ่มของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อระดมสมองในการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในการแก้ปัญหา โดยมีกิจกรรมที่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) Knowledge Sharing 2) Mentoring Session 3) Mini-Workshop และ 4) Idea Pitching โดยสามารถแบ่งกระบวนการในการจัดกิจกรรมเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมการ ดำเนินการตั้งแต่การกำหนด Theme ของโจทย์ ช่วงเวลาการจัดกิจกรรม คุณสมบัติเข้าร่วม เกณฑ์ในการคัดเลือกและการตัดสิน กำหนดรางวัล การประสานเครือความร่วมมือ รวมทั้งการขออนุมัติโครงการ
ขั้นที่ 2 ขั้นดำเนินการจัดการแข่งขัน รายละเอียดการดำเนินการตั้งแต่การเปิดรับสมัคร การคัดกรองผู้เข้าแข่งขัน การพิจารณาคัดเลือก จนกระทั่งการประกาศผลผู้ชนะ
ขั้นที่ 3 ขั้นหลังการแข่งขัน ประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ สนับสนุนการนำไปใช้ปฏิบัติในพื้นที่จริง พร้อมติดตามและประเมินผล
คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมแฮกกาธอนต่อฝ่ายเลขานุการฯ ดังนี้ สำหรับโจทย์ที่จะใช้ในการแข่งขันควรมีความเกี่ยวข้องกับบริบทพื้นที่ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม สู่การคิดวิเคราะห์ สามารถนำไปสร้างแนวคิดในการแก้ปัญหาได้จริง ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมควรเป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีเวลา ไม่ทับซ้อนกับการสอบแข่งขัน อีกทั้งเสนอให้เน้นการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมร่วมกิจกรรมได้เตรียมตัวและกระจายไปแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง

ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ กล่าวถึงงานวิจัยในปัจจุบันที่มีทิศทางกระจัดจาย ดังนั้นคณะทำงานจึงจัดทำ ร่าง กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2567-2570 เพื่อให้ประเทศไทยมีทิศทางและเป้าหมายของการวิจัยทางการศึกษาร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) ศึกษาสถานการณ์ ความท้าทาย แนวโน้มและทิศทางการพัฒนา การวิจัยทางการศึกษาของประเทศไทยและต่างประเทศ 2) ศึกษา วิเคราะห์ ความต้องการ ประเด็นปัญหา และเป้าหมายทางการศึกษาที่จะพัฒนาเป็นงานวิจัย 3) สังเคราะห์งานวิจัยทางการศึกษาของประเทศไทย และ 4) จัดทำกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ 2567-2570 ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และสามารถนำไปใช้ในงานวิจัยได้จริง โดยมีการวิเคราะห์เนื้อหาและกระบวนการการมองอนาคต (Foresight) ในการใช้พัฒนากรอบทิศทางการศึกษา ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) สแกน การหาสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่กระทบการศึกษา 2) วิเคราะห์ ตีความ ประเด็นสำคัญต่อมุมมองอนาคต 3) วิเคราะห์ 3 มิติ ความต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และ 4) การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม โดยที่ประชุมได้เห็นชอบต่อร่าง กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2567-2570 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด