สกศ. จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านประเมินผลการจัดการศึกษา ครั้งที่ 2/2567
วันที่ 4 กันยายน 2567 สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านประเมินผลการจัดการศึกษา ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานดำเนินการประชุม พร้อมด้วย นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา นางสาวกิ่งกาญจน์ เมฆา ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา และคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ในวันนี้ที่ประชุมมีเรื่องเพื่อพิจารณา 3 เรื่อง คือ คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน (เพิ่มเติม) โดยมีการแต่งตั้งนายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา และเพื่อให้การดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการด้านการประเมินผลการจัดการศึกษาเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นจึงเสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ (เพิ่มเติม) ดังนี้ คณะที่ 1 คณะทำงานติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา โดยแต่งตั้ง นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ เป็นคณะทำงาน คณะที่ 2 คณะทำงานวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา แต่งตั้ง นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ เป็นคณะทำงาน และแต่งตั้งนางสาวอุไรวรรณ พันธ์สุจริต เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และคณะที่ 3 คณะทำงานประเมินผลประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา แต่งตั้ง นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ และนางสาวกิ่งกาญจน์ เมฆา เป็นคณะทำงาน
เรื่องพิจารณาที่สอง คือ สรุปผลการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือเพื่อติดตามและประเมินผลการศึกษาของประเทศ : กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ โดยที่ประชุมมีการแนะนำให้ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์และกระชับมากขึ้น เช่น เรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม จากข้อมูลพบว่าผู้เรียนในทุกสังกัดมีจำนวนลดลง แต่ผู้เรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ที่ประชุมจึงอยากให้ไปหาสาเหตุว่าทำไมผู้เรียน สกร. ถึงเพิ่มขึ้น รวมทั้งบริบทของจังหวัดศรีสะเกษมีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ อย่างไรบ้าง หรือเรื่องคุณภาพการศึกษา เช่น เห็นว่าจังหวัดศรีสะเกษมีความสามารถทางด้านกีฬาสูงจึงให้ไปศึกษาว่ามีปัจจัยใดที่ทำให้มีความพร้อมในเรื่องกีฬามากกว่าจังหวัดอื่น
ปิดท้ายด้วย (ร่าง) การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้ครู เนื่องจากผลผลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ผลการทดสอบ O-NET ในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในช่วงปีการศึกษา 2562-2565 ค่าเฉลี่ยรวมของทุกวิชาทั้ง 3 ระดับชั้น มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลการทดสอบ PISA 2022 ที่นักเรียนกว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถใช้ทักษะและความรู้ของวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการอ่านได้ในชีวิตจริงในระดับพื้นฐาน สะท้อนถึงประเด็นท้าทายด้านประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่ถดถอย การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในมิติของการใช้ครูที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพในการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยข้อสรุปจากที่ประชุมให้ความเห็นว่าต้องมีการแก้ไขข้อมูล (ร่าง) การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้ครูให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น อาทิ นิยามของคำว่าประสิทธิภาพ ข้อสรุปประสิทธิภาพการใช้ครู ตัวชี้วัดการเปรียบเทียบกับทรัพยากรครูที่ใช้ไป ค่าใช้จ่ายของครูทั้งหมดเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพและเทียบกับประเทศต่าง ๆ หลักสูตรการผลิตครูสอดคล้องกับการเรียนการสอนหรือไม่ โดยฝ่ายเลขานุการฯ จะนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงและนำมาเสนอต่อที่คณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1HRHboy-YylgrBcdVkTtud5EzAb7VzcTT?usp=drive_link