คกก. แผนแม่บทฯ เคาะร่าง Master Plan วิชาประวัติศาสตร์หนุนพลิกโฉมการท่องจำ สู่พื้นที่เรียนอดีตล้ำสมัย บนฐานการวิเคราะห์อย่างไม่ติดตำรา

image

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม “คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 4/2567” โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานฯ พร้อมด้วย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นายชัชวาล อัชฌากุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษา สกศ. คณะกรรมการฯ นักวิชาการ ครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศึกษานิเทศก์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องพจน์ สะเพียรชัย ชั้น 5 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญในการพิจารณา (ร่าง) แผนแม่บท (Master Plan) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งครอบคลุม 7 สาระการเรียนรู้ อาทิ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ และความเป็นมาของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในประเทศไทย ทั้งนี้จำเป็นต้องพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดทักษะและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ (Knowledge and Understanding) ด้วยการฝึกตั้งคำถาม การยอมรับความเห็นต่าง การวิเคราะห์เชื่อมโยงตนเองกับบริบทสังคม-โลก 

ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายอย่างเข้มข้น โดยเห็นว่า (ร่าง) แผนแม่บทนี้อาจช่วยพลิกโฉมการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในไทยจากวิชาที่ต้องอาศัยการท่องจำตามช่วงเวลาสู่วิชาที่เปิดพื้นที่ปลอดภัยของการเรียนรู้และการแสดงความคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์  โดยครูเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Coaching) และสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะตั้งแต่การสืบค้น การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล การฝึกแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์หรือกรณีพิพาทที่ควรใช้การเรียนแบบ Problem issue-based เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาบนพื้นฐานข้อเท็จจริงและนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการอธิบายเหตุการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงเนื้อหาการเรียนรู้ที่บรรจุไว้ใน (ร่าง) แผนแม่บทดังกล่าว โดยมีข้อคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอน อาทิ การตีความคำนิยามอย่างเช่นคำว่า “ชาติ” ที่ไม่จำกัดความเฉพาะอาณาเขตพื้นที่แต่ครอบคลุมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ หรือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถเพิ่มเติมแง่มุมด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศให้สอดคล้องสภาวการณ์ในปัจจุบัน จากนี้ สกศ. จะนำ (ร่าง) แผนแม่บท (Master Plan) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ เข้าสู่ที่ประชุมสภาการศึกษาและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด