สกศ. ร่วมหารืออนุกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2567 ขับเคลื่อนร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และการเพิ่มรายได้ให้สถานศึกษา
วันที่ 6 สิงหาคม 2567 สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วยนางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากร สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx
ฝ่ายเลขานุการได้กล่าวถึงเรื่องพิจารณาแนวทางการปรับร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งจากการดำเนินการได้ระดมความคิดเห็น พร้อมรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค ได้ร่วมวิเคราะห์ปัญหาด้านการศึกษา เพื่อจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับแบบฟอร์มแผนระดับที่ 3 และการกำหนดช่วงระยะเวลาของแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยฝ่ายเลขานุการได้ให้ข้อเสนอในการร่วมพิจารณา ดังนี้
1) การกำหนดช่วงระยะเวลาของร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยให้ร่างแผนระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2570 (3 ปี)
2) สาระของร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยดำเนินงานทบทวนและปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ พร้อมทั้งการปรับเข้ารูปแบบของแผนระดับ 3
3) ประเด็นหารือแนวทางการดำเนินงานระยะต่อไป สำหรับการดำเนินการเตรียมการประชุมกรรมการสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2567 พร้อมประชุมร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะควรเน้นการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงของการศึกษาปัจจุบัน ควรมีความยืดหยุ่น และยึดแนวโน้มทิศทางการศึกษาในปัจจุบันมาใช้ในการประกอบการร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อให้ได้แผนระดับ 3 ที่สมบูรณ์
จากนั้นได้ร่วมพิจารณาการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษา ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เนื่องด้วยเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการด้านการเงินได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งการดำเนินการให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนสถานศึกษา โดยมีข้อเสนอแนวทางปฏิบัติ 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 (ภายใน 1 ปี) สร้างความรู้เกี่ยวกับการลงทุน พร้อมผลักดันหน่วยงานที่ปรึกษากลางด้านการหารายได้จากอสังหาริมทรัพย์ของสถานศึกษา การจัดตั้งที่ปรึกษาด้านการเงินต่อสถานศึกษา เพื่อให้จัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม ระยะที่ 2 (ภายใน 1-3 ปี) ลดรายจ่ายค่าสาธารณูปโภคสถานศึกษา พร้อมปรับแก้กฎหมายให้เกิดการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ยืดหยุ่น สำหรับการดำเนินงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้สถานศึกษา มีประเด็นการขับเคลื่อน 2 ประเด็น ดังนี้
1) สร้างการรับรู้-สื่อสารสู่สาธารณะ : เพื่อเสนอโอกาส การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ที่มีศักยภาพในการลงทุนด้านการศึกษา ตามหลักการของ PPP และ BOI และการสร้างรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ ของสถานศึกษา
2) การประสานงานเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในด้านการเพิ่มรายได้ให้สถานศึกษา : เพื่อความยั่งยืนใน การพัฒนาสถานศึกษาด้วยตนเอง ทั้งระดับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา
ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติควรต้องอาศัยความร่วมมือกับศึกษาธิการจังหวัดหน่วยงานในส่วนภูมิภาคเป็นตัวกลางกับหน่วยงานสถานศึกษาให้ได้มีอิสระในการบริหารจัดการด้านการเงินได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำข้อเสนอแนะ ไปพิจารณาทบทวนเพื่อปรับปรุงให้เกิดการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาการศึกษาต่อไป