เมืองสองแควพร้อมจับมือสภาการศึกษา จัดทำแผนคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษา
วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นายกอบภณ แสงสมบัติ ศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก โดยมีทีมผู้จัดการประชุมจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นำโดย นางสาวช่อบุญ จิรานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการภาค 17 ผู้แทนสำนักงานอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดพิษณุโลก และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด
นายกอบภณ กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลกให้ความสำคัญกับการศึกษาและควรพัฒนาเป็นรายบุคคลตั้งแต่เกิดจนถึงเข้าสู่วัยแรงงานและผู้สูงอายุ โดยเห็นว่าความเป็นเอกภาพทางการศึกษาควรมี “ระบบที่มีมาตรฐานและการสื่อสารประสานงานระหว่างหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ” ทั้งนี้การพัฒนาการศึกษาจะเกิดขึ้นได้เราต้องร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในจังหวัด ไม่เพียงแต่หน่วยจัดการศึกษาเท่านั้น
นายภานุพงศ์ พนมวัน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ.2565-2567 จังหวัดพิษณุโลกมีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ระดับพอใช้ แต่เป็นจังหวัดที่น่าชื่นชมที่จังหวัดมีประชากรเข้าถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือปีการศึกษาเฉลี่ยและอัตราการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ทั้งนี้จังหวัดควรมีการส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้และการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันแสดงความคิดเห็นสรุปว่า จังหวัดพิษณุโลกมีคณะกรรมการบริการข้อมูลระดับจังหวัดและหน่วยงานทางการศึกษาให้ความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลอย่างดี แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคคือเครื่องมือจัดเก็บซ้ำซ้อน และข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ต้องการมีความหลากหลายทำให้ออกแบบเครื่องมือจัดเก็บได้ยาก ดังนั้นหน่วยงานจัดการศึกษาระดับพื้นที่จึงร่วมมือกับหน่วยงานกลางในการทบทวนและวิเคราะห์สาเหตุ/ปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อน
แผนพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือ ตรงตามมาตรฐาน UIS โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเทคโนโลยีด้านการจัดทำข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาที่เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล พร้อมกับจัดทำคู่มือที่แสดงถึงวิธีการจัดเก็บ รวบรวม และตรวจสอบข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผลลัพธ์สุดท้ายคือ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลมีเอกภาพ ตอบสนองผู้ใช้งาน และคุณภาพข้อมูลตรงตามมาตรฐาน UIS
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความคิดเห็นในการจัดทำแผนดังกล่าวร่วมกันว่า ควรมีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะและความชำนาญในการปฏิบัติงานด้านสารสนเทศ และมีการพัฒนาบุคลากรด้านข้อมูลสารสนเทศพร้อมกับมีแผนทดแทนอัตรากำลังเพื่อให้การบริหารจัดการด้านกำลังคนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรจัดทำคู่มือที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลมีความพร้อมใช้เข้าใจง่าย ซึ่งสกศ. จะนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทยต่อไป