สกศ. ชวนครูทุกภูมิภาค ร่วม Workshop เข้มข้น ระดมไอเดียยกระดับ โรงเรียนจิ๋วคุณภาพแจ๋ว
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยมี ดร.สกล กิตติ์นิธิ ประธานคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นประธานฯ พร้อมด้วย ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูอาจารย์ นักวิชาการ คณะทำงานฯ นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ สมร. และข้าราชการ สมร. ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อเติมเต็ม (ร่าง) ข้อเสนอดังกล่าว ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร ๒ ชั้น ๕ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) ข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งมีที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กทั้งไทยและต่างประเทศ การประชุมร่วมกับโครงการ Access School และการลงพื้นที่ศึกษาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพในพื้นที่จังหวัดราชบุรี นำไปสู่การจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอเพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กผ่านการบริหารงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านวิชาการ 2) การบริหารจัดการ 3) งบประมาณ และ 4) ด้านบุคคล นำมาสู่การจัด Workshop ในวันนี้ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านขนาดเล็กทั่วทุกภูมิภาค ร่วมผสานประสบการณ์เสริม (ร่าง) ข้อเสนอดังกล่าวให้รอบด้าน เพื่อเตรียมเสนอต่อกรรมการสภาการศึกษาซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน
ที่ประชุมได้รับฟังข้อเสนอแนะที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย ทั้งจากโรงเรียนของชาวเขาเผ่าม้งบนภูเขา - โรงเรียนที่ต้องใช้เรือและมีนักเรียนชาวเลมอแกนบนเกาะแก่ง - พื้นที่ชายแดน - โรงเรียนขนาดเล็กใกล้เมืองใหญ่ โรงเรียนขนาดเล็กที่ช่วยดูแลเด็กออทิสติกและเด็ก LD - โรงเรียนที่ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และมหาวิทยาลัยที่ร่วมพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กตามนโยบายของพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี โดยได้รับเกียรติจากศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผล สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น (นางอุทัยรัตน์ อนุสุเรนทร์) ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.สระแก้ว เขต 2 (นายไพบูลย์ ประเสริฐสรรค์) ร่วมด้วยผู้บริหารและคณะครูจังหวัดสระแก้ว (ในอำเภอที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา) ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่ศรีจำปาทอง (นางวันเพ็ญ คำดำ) ครูโรงเรียนกองทัพบกอุทิศบ้านใหม่ไทยถาวร (นางศศิธารา จันทร์แกม) ครูโรงเรียนบ้านหนองผักบุ้ง (นางอรอนงค์ ก้อนสำโรง และนางสาวบังอร ถาดทอง) ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะเหลา จ.ระนอง (นายเอกรัตน์ คงยศ) ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางช้าง จ.น่าน (นายสามารถ ดีพรมกุล) ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาคำน้อย 2 จ.มุกดาหาร (นางทัศนีย์ บุตรดีวงศ์) ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแสงมณี จ.ปทุมธานี (นางสาวฤชาภร เขียวอร่าม) รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสินสังวาลย์อุทิศ จ.พระนครศรีอยุธยา (นางสาวญาตาวี สุขสมเกษม) และอาจารย์ในฐานะนักวิจัยด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผศ.ดร.ธัญวรัตน์ ปิ่นทอง)
ทั้งนี้ ผู้ให้ข้อมูลมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพ หน่วยกลางและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้อง “ให้อิสระและมีความยืดหยุ่นตามบริบทโรงเรียน” ทั้งด้านวิชาการที่ไม่ได้มุ่งเน้นการแข่งขันระดับชาติ แต่เป็นการเรียนเพื่อสร้างทักษะชีวิต การปรับหลักสูตรและการวัดประเมินผลไม่ควรบังคับตามกลุ่ม ๘ สาระวิชา แต่เปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์พื้นที่ นอกจากนี้การมีชุมชนหนุนเสริมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้โรงเรียนคงอยู่และผู้เรียนซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนมีความสุข อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานสะท้อนปัญหาที่ใกล้เคียงกันคือ “ด้านเงินอุดหนุนรายหัว” ซึ่งเห็นตรงกับคณะทำงานฯ ในการแยกค่าสาธารณูปโภคออกจากเงินอุดหนุน และควรปรับเป็นเงินอุดหนุนแบบกลุ่มที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐาน อาทิ ค่าอาหารกลางวัน ค่าน้ำค่าไฟ เพื่อสร้างหลักประกันให้โรงเรียนขนาดเล็กมีงบประมาณพื้นฐานให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพโดยไม่ถูกลดงบประมาณที่การคำนวณตามจำนวนเด็ก
จากนี้ สกศ. จะประมวลความคิดเห็นที่ได้เพื่อปรับปรุง (ร่าง) ข้อเสนอดังกล่าวให้รอบด้าน ครอบคลุมสภาพการจัดการเรียนการสอน และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเด็กนักเรียนซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติต่อไป.