เปิดร่าง Master Plan พลิกโฉมวิชาประวัติศาสตร์ สกศ. หนุนใช้ Power of Question ปรับตำรากระตุ้นคิด ถกอดีตเพื่อรู้ทันโลกแบบไม่ติดยุคสมัย

image

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 3/2567 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นักวิชาการ ครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศึกษานิเทศก์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องพจน์ สะเพียรชัย ชั้น 5 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา  (ร่าง) แผนแม่บท (Master Plan) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ โดยมีเป้าหมายให้วิชาประวัติศาสตร์ไม่ห่างจากชีวิตประจำวันของผู้เรียน มุ่งเน้นให้เกิดการรู้เท่าทันสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยและโลก โดยปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เรียนแบ่งเป็น 4 ช่วงชั้น ได้แก่ ประถมต้น ประถมปลาย มัธยมต้น และมัธยมปลาย เปลี่ยนมุมมองจากการเรียนรู้ตามลำดับเวลา (Timeline) เป็นการปูพื้นฐานตั้งแต่เข้าใจความเป็นมาของครอบครัว ท้องถิ่น (Local) และชาติไทย ไปจนถึงเรียนรู้พัฒนาการของโลกและความแตกต่างทางอารยธรรม (Globalization) ด้านกระบวนการเรียนรู้ควรปรับการสอนแบบท่องจำมาเป็นการใช้คำถามกระตุ้นความคิด (Compelling Question) ชวนให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ตนมีนำไปสู่การรู้เท่าทันสังคม การเมือง เศรษฐกิจของไทยและโลก ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการปรับแบบเรียนให้หนุนเสริมกระบวนการดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนไทยมีทักษะการประเมินหลักฐานและวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์อย่างมีเหตุผล

โอกาสนี้ กลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้นำเสนอตัวอย่างหนังสือ หรือ Text Book วิชาประวัติศาสตร์ของต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนา เบื้องต้นศึกษาจากแบบเรียนของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา พบว่า ภายใต้การแบ่งเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และภูมิศาสตร์ที่แตกต่างตามบริบทของแต่ละประเทศ มีสิ่งหนึ่งที่แทบทุกประเทศให้ความสำคัญคือ การออกแบบตำราเรียนให้ “เริ่มด้วยคำถาม” กระตุ้นให้ผู้เรียนดึงความรู้เดิมที่มีอยู่มาสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่มิติสถานที่และเวลา ฝึกการใช้หลักฐานชั้นต้นและชั้นรองให้ผู้เรียนได้นำมาวิเคราะห์ ระหว่างบทเรียนมีการย้ำสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ (Focus) และให้ตัวอย่างการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนที่ชวนให้เกิดการสืบค้นข้อมูลและใช้สื่อมัลติมีเดีย เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์มีความสนุกสนานและได้องค์ความรู้ที่ร่วมสมัย 

จากนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อพัฒนา (ร่าง) แผนแม่บทให้นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับกระบวนการสอนในไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด