สกศ. ยกร่างข้อเสนอ ลดเหลื่อมล้ำ - เพิ่มคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก • ปลดล็อคเงื่อนไข • ให้อิสระ • ใกล้ชิดชุมชน

image

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุม || •• คณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2567 •• || โดยมี นายสกล กิตติ์นิธิ เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายวณิชย์ อ่วมศรี นายสันติพงศ์ ชินประดิษฐ นายนุชากร มาศฉมาดล นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย นายอิษฏ์ ปักกันต์ธร คณะทำงานฯ • นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. • ผู้แทนจากมูลนิธิ Starfish Education และบุคลากร สมร. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องพจน์ สะเพียรชัย อาคาร 2 ชั้น 5 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

การประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญคือการพิจารณา  “(ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ” ซึ่งประมวลผลการวิเคราะห์ข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กทั้งในและต่างประเทศ  การประชุมผู้แทนภาคีองค์กรภาคประชาสังคมจากโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School)  และการลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนจากชุมชน ครู และนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีการบริหารจัดการที่ในจังหวัดราชบุรี เบื้องต้นคณะทำงานฯ ได้วางกรอบข้อเสนอใน 4 ด้าน ได้แก่  ด้านวิชาการ การบริหารงานทั่วไป งบประมาณ และการบริหารบุคคล  จากนั้น ที่ประชุมได้หารืออย่างเข้มข้นเพื่อเติมเต็มข้อเสนอให้รอบด้านมากขึ้น อาทิ การปรับระบบให้เงินอุดหนุนรายหัว การสนันสนุนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ตลอดจนแนวทางการปลดล็อคระเบียบ/ข้อบังคับกฎหมาย เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กมีอิสระในการบริหารจัดการให้ตอบโจทย์ชุมชน พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชน ภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุนในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งด้านทุนการศึกษา การพัฒนาอาคารสถานที่ ต่อยอดสู่การออกแบบหลักสูตรร่วมกันกับโรงเรียน 

โอกาสนี้ นายธนิต มินวงษ์ และ นางสาวชลสาย กาศรีวิชัย ผู้แทนจากมูลนิธิ Starfish Education นำเสนอ •  Starftish Class •  นวัตกรรมออกแบบมาเป็นผู้ช่วยของครูในการประเมินทักษะหรือสมรรถนะผู้เรียน เพื่อที่ครูจะได้ใช้เวลากับเอกสารน้อยลง และใช้เวลากับนักเรียนมากขึ้น โดยใช้ SPIDER GRAPH มาส่งเสริมให้นักเรียนได้ตรงตามศักยภาพ   ปัจจุบันมีการเปิดให้ผู้สนใจเข้าใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง www.starfishclass.com 

คณะทำงานฯ เห็นว่านวัตกรรมดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ช่วยครูในการออกแบบการเรียนการสอนที่จะช่วยเสริมความถนัดของนักเรียนได้เป็นอย่างดี  โดยหากเพิ่มการปรับรูปแบบการใช้งานให้สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนขนาดเล็ก และการเก็บข้อมูลการบำเพ็ญประโยชน์ หรือด้านจริยธรรม จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการวัดและประเมินผลทั้ง Hard Skill และ Soft Skill 

จากนี้ คณะทำงานฯ และทีม สมร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนโรงเรียนขนาดเล็ก สถาบันอาชีวศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเติมเต็ม (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กฯ ให้ครบถ้วน ทันสมัย และให้ได้แนวทางที่สามารถนำปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ในการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 14,000 แห่ง ทั่วประเทศให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป.

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด