สกศ.จับมือชัยนาทขับเคลื่อนคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาภาคกลางวันที่สอง
วันที่27 มิถุนายน 2567 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษามอบหมายให้นายภาณุพงศ์ พนมวัน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาทเพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยการรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประชากรไทยอย่างมีคุณภาพ ด้วยการใช้ข้อมูลด้านการศึกษาสำหรับสนับสนุนการจัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษาของประเทศไทยและเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือและต้นแบบในการประเมินคุณภาพข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ OECD และ UIS
การประชุมวันนี้ นายอนุพงษ์ คล้องการ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาทให้การต้อนรับ ณ สำนักงานศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอาชีวศึกษา ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดชัยนาท และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด
นายภานุพงศ์ พนมวัน กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ.2565-2567 จังหวัดชัยนาทมีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ระดับพอใช้ แต่เป็นจังหวัดที่น่าชื่นชมที่จังหวัดสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 ปีซ้อน มีคณะกรรมการบริการข้อมูลระดับจังหวัดและหน่วยงานทางการศึกษาให้ความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลอย่างดี แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคคือเครื่องมือจัดเก็บซ้ำซ้อน และข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ต้องการมีความหลากหลายทำให้ออกแบบเครื่องมือจัดเก็บได้ยาก ดังนั้นหน่วยงานจัดการศึกษาระดับพื้นที่จึงร่วมมือกับหน่วยงานกลางในการทบทวนและวิเคราะห์สาเหตุ/ปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อน
แผนพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประทศไทยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือ ตรงตามมาตรฐาน UIS โดยมียุทธศาสตร์สำคัญตือการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเทคโนโลยีด้านการจัดทำข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาที่เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล พร้อมกับจัดทำคู่มือที่แสดงถึงวิธีการจัดเก็บ รวบรวม และตรวจสอบข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผลลัพธ์สุดท้ายคิอ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลมีเอกภาพ ตอบสนองผู้ใช้งาน และคุณภาพข้อมูลตรงตามมาตรฐาน UIS
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความคิดเห็นร่วมกันว่า ควรมีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะและความชำนาญในการปฏิบัติงานด้านสารสนเทศ และมีการพัฒนาบุคลากรด้านข้อมูลสารสนเทศพร้อมกับมีแผนทดแทนอัตรากำลังเพื่อให้การบริหารจัดการด้านกำลังคนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรจัดทำคู่มือที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลมีความพร้อมใช้เข้าใจง่าย ซึ่งสกศ.จะนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทยต่อไป