นำร่อง Essential Skills Set สกศ.หารือแนวทางพัฒนาทักษะเด็กและเยาวชนไทย
วันที่ 19 เมษายน 2567 สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมหารือการจัดทำแนวทางนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย โดยมี ศาตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วย นางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะอนุกรรมการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx Meeting
ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา (ร่าง) แนวทางนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย ชุดทักษะที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาครู และการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ที่ครอบคลุม 4 ชุดทักษะ (Skills Sets) ทางด้านอาชีพ ทางเทคนิคเฉพาะทาง ทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนแปลง ครอบคลุมทั้งทักษะพื้นฐาน (Basic Skills) 7 ทักษะ และทักษะขั้นสูง (Advanced Skills) 19 ทักษะ ซึ่ง สถานศึกษา ครู จำเป็นต้องได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักเรียนค้นพบเป้าหมายของตนเอง การเรียนรู้ที่เน้นทักษะมากขึ้น ผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดทักษะที่จำเป็นหลากหลาย เช่น การเลือกทรัพยากรให้เหมาะสมกับชั้นเรียนและบริบทของสถานศึกษา ให้โอกาสในการลงมือทำ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงไม่จำกัดเพียงในห้องเรียน เสริมสร้างทักษะแบบ Active Learning รวมถึงกิจกรรมพัฒนาการคิดอย่างมีเหตุผลสำหรับเด็ก โดย สกศ. ได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานไว้ 2 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงการนำร่อง เพื่อหารือกับหน่วยงานนโยบายส่วนกลาง ดำเนินการนำร่องในโรงเรียนเพื่อถอดบทเรียน และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ 2) ช่วงขยายผล เตรียมร่างแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษา เพื่อขยายผลกับสถานศึกษาในสังกัด สร้างความเข้าใจในพื้นที่กับ ครู ศึกษานิเทศก์ และเริ่มขยายผลระยะที่ 1 ด้วยการวิจัยติดตามและถอดบทเรียนเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการนำร่องในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้สถานศึกษานำร่องมีภาพความสำเร็จ และมีมาตรฐานในการคัดเลือกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มดำเนินการนำร่องจากทักษะพื้นฐาน (Basic Skills) ก่อน ซึ่งประกอบด้วย 7 ทักษะ ได้แก่ 1. ความฉลาดรู้ (Literacy) 2. การคำนวณ (Numeracy) 3. ความฉลาดรู้ทางการเรียนรู้ (Learning Literacy) 4. ความฉลาดรู้ทางสังคม-วัฒนธรรม (Socio Cultural Literacy) 5. ความฉลาดรู้ด้านจริยธรรม (Ethical Literacy) 6. ความฉลาดรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) 7. ความฉลาดรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ในการเลือกสถานศึกษาการนำร่องครั้งนี้ให้หน่วยงานต้นสังกัดคัดเลือกโรงเรียนและจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในเครือข่าย เสนอต่อ สกศ. ภายในวันที่ 26 เมษายน 2567 เพื่อที่ สกศ.จะดำเนินการตามขั้นตอนจัดทำร่างแผนการดำเนินงานตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถปรับตัวตามที่ตลาดแรงงานต้องการได้ ด้วยการมีส่วนร่วมตามบริบทของท้องถิ่นและความต้องการทางสังคม เพื่อพัฒนาทักษะทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศต่อไป