เกษียณสำราญ ณ มหาวิทยาลัยวัยที่สาม สกศ. ศึกษา How To สร้างนิเวศการเรียนรู้ให้โดนใจผู้สูงวัยชาวเชียงราย
บ่ายวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในโครงการติดตามผลและจัดทำแผนขับเคลื่อนการนำรูปแบบการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย 4.0 สู่การปฏิบัติ โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. ผศ.ดร.กอบสุข คงมนัส อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และทีมบุคลากร สมร. ร่วมศึกษาการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุของ เชียงราย เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ณ มหาวิทยาลัยวัยที่สาม เทศบาลนครเชียงราย ซึ่งมี นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย คณาจารย์ จิตอาสา และนักศึกษามหาวิทยาลัยวัยที่สาม ให้การต้อนรับ
เทศบาลนครเชียงรายเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO แห่งแรกในประเทศไทย” โดยได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง TK Park องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย รวมถึงเปิด “มหาวิทยาลัยวัยที่สาม (University of Third Age)” เพื่อจัดกิจกรรมนิทรรศการผู้สูงวัยสร้างเมือง ให้ความรู้ทั้งการดูแลรักษาสุขภาพ อาหารพื้นเมือง รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น
สำหรับ “มหาวิทยาลัยวัยที่สาม” ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 มีแนวทางใกล้เคียงกับกับโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่เน้นการจัดการเรียนการสอนที่เป็นระบบ เปิดสอนวันจันทร์ - วันเสาร์ ใน 8 หลักสูตร ได้แก่ 1) ด้านศาสนา 2) ด้านศิลปวัฒนธรรม 3) ด้านสุขภาพ 4) ด้านการศึกษาและเทคโนโลยี 5) ด้านสิ่งแวดล้อม 6) ด้านสังคมและความสุข 7) ด้านการท่องเที่ยว และ 8) ด้านเศรษฐกิจ โดยเทศบาลนครเชียงรายเป็นแกนนำขับเคลื่อนร่วมกับตัวแทนผู้สูงอายุ (Active Ageing) ทำให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อายุในทุกด้าน อีกทั้งยังให้บริการข้อมูลและสารสนเทศนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงรายได้ขยายวิทยาเขต เพื่อช่วยลดค่าเดินทางและให้พ่ออุ้ยแม่อุ้ยเข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้นโดยใช้พื้นที่วัด-โรงเรียนใน 5 โซนทั่วเทศบาลนครเชียงราย พร้อมกับชูจุดเด่นของชุมชนที่แตกต่างกัน ได้แก่ 1) ส่งเสริมอาชีพทำตุ๊กตาดินเผา วัดดอยตอง 2) มัคคุเทศก์วัยเก๋าชวนเที่ยววิถีชุมชน วัดศรีบุญเรือง 3) ป่าในเมือง วัดคีรีชัย (ดอยสะเก็น) 4) วิถีไทยใหญ่ โรงเรียนเทศบาล 4 และ 5) วิถีล้านนา วัดเชียงยืน
ทีมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวัยที่สามเน้นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การสร้างสังคมแห่งความสุข”อยากให้ผู้เรียนได้เพื่อน ได้พูดคุยช่วยเหลือกัน ไม่มีการให้การบ้าน วัดผลด้วยชั่วโมงการเข้าเรียน มีงานวิชาการในรูปแบบ “งานปอยหลวง” ให้นักเรียนมาร่วมแสดงผลงาน หากเรียนครบตามเกณฑ์ทางมหาวิทยาลัยมีการจัดพิธีรับ “ปัญญาบัตร” แสดงความยินดีและสร้างความภูมิใจให้กับผู้สูงวัย