ลุยไม่รู้โรย สกศ. ศึกษาโมเดล Phayao Learning City ชูวัยเก๋าเมืองพะเยา สู่การเป็นนวัตกรชุมชน สานภูมิปัญญาปันมุมคิด พัฒนาชีวิตคนทุกช่วงวัย
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ลงพื้นที่ศึกษา การขับเคลื่อน "พะเยา เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) จากการคัดเลือกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) " โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. ผศ.ดร.กอบสุข คงมนัส อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และทีม สมร. ร่วมศึกษาการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา ซึ่งมี นายมนัส สายโกสุม รองนายกเทศมนตรีเมืองพะเยา พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ท. ประจักษ์ ศรีจำปา รองปลัดเทศบาลเมืองพะเยา นายโชคดี สกุลกวีพร ผู้อำนวยการกองการศึกษา นางมณฑกาญจน์ ปรางมณีรัตน์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม บุคลากรเทศบาลเมืองพะเยา และนวัตกรชุมชน ให้การต้อนรับ
“โครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้” เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยพะเยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดพะเยา และภาคีเครือข่าย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำไปสู่การขับเคลื่อนจังหวัดพะเยาให้เป็นพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) จนได้รับการรับรองเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ปัจจุบันมีการจัดทำ “Learning Route @ Phoyao Learning City” ต่อยอดแหล่งเรียนรู้สู่การท่องเที่ยววิถีชุมชน และเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ของจังหวัดอื่น ๆ เช่น ลำพูน ตรัง และอุดรธานี
จุดเน้นประการหนึ่งของการสร้างพะเยาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนคือ การสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุ หรือ นวัตกรชุมชน ได้แชร์มุมคิดและภูมิปัญญามาร่วมพัฒนาเมือง พร้อมกับอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ตามใจวัยเก๋า โดยมี “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ” ที่ใช้การเรียนรู้แบบ Learn to do และ Cross-learning community ด้วยการชวนคนต่างช่วงวัย ต่างชุมชน มาเรียนรู้ร่วมกัน และมีนวัตกรชุมชน ซึ่งเป็นทั้งผู้สูงอายุและผู้เชี่ยวชาญวัยต่าง ๆ มาร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และจัดกิจกรรม ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา เพื่อสานสัมพันธ์ในครอบครัว พร้อมกับผู้สูงอายุก็ได้นำทักษะใหม่ ๆ ไปต่อยอดผลิตขายเป็นรายได้เสริม นำไปสู่การจดวิสาหกิจชุมชนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทีมขับเคลื่อนพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า “City Unit” ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาในการจัดทำในระบบธนาคารหน่วยกิตภายใต้หลักสูตรนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ (City Administrator Course) ให้คนพะเยาทุกช่วงวัยเข้ามาเรียนรู้ได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยใต้แฮชแทก #phayaolearningcity มาสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมการนำแนวคิดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มายกระดับผลิตภัณฑ์จากนวัตกรชุมชนชูความใส่ใจต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ Creative City และ Smart City รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในมิติต่าง ๆ ต่อไป