ประเทศไทยพร้อมขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนภายใต้กรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน และอาเซียนบวกสาม
สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF Committee) ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 17 – 18 มกราคม 2567 ณ โรงแรม The Everly Putrajaya เมืองปุตราจายา สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยเลขาธิการสภาการศึกษามอบหมายให้นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศไทย
ในการประชุมครั้งนี้ มี Professor Dr. Khairul Salleh Bin Mohamed Sahari ผู้อำนวยการฝ่ายการประกันคุณภาพ (Deputy Chief Executive Officer Quality Assurance) ของ Malaysia Qualifications Agency ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ 2) ผู้ประสานงานด้านการศึกษา แรงงาน การค้า และคุณวุฒิของประเทศสมาชิกอาเซียน (Focal Point) และ 3) เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ในส่วนของประเทศไทยมีผู้แทนจำนวน 5 คนเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย 1) นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา 2) นางสาวกาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 3) นางศิริพรรณ ชุมนุม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 4) นางสาวโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและคุณวุฒิวิชาชีพ และนางสาวธัญมาศ ลิมอักษร สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและหารือในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. แผนการดำเนินงานของคณะกรรมการ AQRF ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2568 โดยได้หารือความร่วมมือในการยกระดับ AQRF ในฐานะกรอบระดับภูมิภาค 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การพัฒนาการรับรองคุณวุฒิดวยดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (2) การสงเสริมหลักการประกันคุณภาพคุณวุฒิ และ (3) การพัฒนาการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิของประเทศที่สามหรือกรอบคุณวุฒิระดับภูมิภาคอื่น ๆ กับ AQRF โดยนำผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยในแต่ละประเด็นมาแลกเปลี่ยนในที่ประชุม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการร้องขอให้ดำเนินการในประเด็น ดังนี้ (1) ศึกษาแนวทางการเทียบเคียง AQRF กับกรอบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน และ (2) จัดสนทนากลุ่มกับประเทศสมาชิกอาเซียนในประเด็น “กลไกการนำ AQRF ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามเกณฑ์ที่ 11 ในการส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศนำกระบวนการเทียบเคียงไปปฏิบัติ” รวมถึงการเข้าร่วมการสนทนากลุ่มในทั้ง 3 ประเด็น ซึ่งสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในประเด็นดังกล่าว ต่อไป
2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับ AQRF โดยมีการรายงานของประเทศที่อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการเทียบเคียงฯ จำนวน 4 ประเทศ ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งขณะนี้ทั้ง 4 ประเทศอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลตามเกณฑ์การเทียบเคียงบางส่วน และจะได้จัดส่งให้คณะกรรมการ AQRF พิจารณาต่อไป ในส่วนของประเทศที่ได้รับการรับรองรายงานการเทียบเคียงฯ แล้ว จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งภายหลังได้รับการรับรองรายงานการเทียบเคียงฯ แล้ว ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหพันธรัฐมาเลเซียพัฒนาเรื่อง Micro-credentials โดยในส่วนของประเทศไทยได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรทุกระดับ/ประเภทให้เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพในระดับชาติและสากล และได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการจัดตั้งหน่วยงานกลางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ
นอกจากนี้แล้ว สำนักเลขาธิการอาเซียนนำเสนอข้อมูลการศึกษาเพื่อจัดตั้ง “สำนักเลขาธิการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF Secretariat)” โดยมีหน้าที่ในการประสานงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับ AQRF สนับสนุนการบริหารจัดการแก่คณะกรรมการ AQRF ช่วยเหลือคณะกรรมการAQRF ในการยกระดับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ AQRF เกี่ยวกับกองทุนหรือการพัฒนาความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ซึ่งในประเด็นนี้จะได้มีการจัดประชุมหารือแนวทางและความพร้อมในการจัดตั้งต่อไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 และที่ประชุมได้กำหนดการประชุมคณะกรรมการ AQRF ครั้งที่ 14 ในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2567