สกศ. ถอดรหัสการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก พัฒนาการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

image

วันที่ 16 มกราคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ คณะทำงาน ข้าราชการ และบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx

ที่ประชุมรับฟังผลการลงพื้นที่ถอดบทเรียนการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เมื่อวันที่ 25-26 ธันวาคม 2566 ณ จังหวัดราชบุรี จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนมหาราช 7 เดิมทีเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีการพัฒนาจนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสและเป็นต้นแบบให้โรงเรียนในพื้นที่ ใช้โมเดล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และร่วมโครงการ ZERO DROPOUT โดยแสนสิริ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ 2) โรงเรียนบ้านหนองปากชัฏ มีการจัดกิจกรรม Super Plaza เรียนรู้ผ่านการเล่นทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ เน้นการอ่านออกเขียนได้ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมจนมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก 50-60 คน เป็น 117 คน ภายใน 5 ปี 3) โรงเรียนบ้านเกาะโพธิ์งาม โรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้ DLTV 100 % ร่วมกับหลัก บ้าน-วัด-โรงเรียน ในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ผู้ปกครองพานักเรียนย้ายกลับจากการเรียนร่วมกับสถานศึกษาอื่น ครูดูแลนักเรียนทั่วถึงทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้คล่องขึ้น

มีประเด็นการถอดบทเรียนจากโรงเรียนเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ดังนี้ 1) การบริหารด้านวิชาการ ด้านนวัตกรรมรูปแบบที่โรงเรียนใช้ การจัดการเรียนการสอนของแต่ละระดับชั้น การวัดและประเมินผู้เรียน การเตรียมการทั้ง ครู วัสดุอุปกรณ์ ห้องเรียน อาคารสถานที่ การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน และการดูแลผู้เรียน 2) การบริหารงบประมาณ ด้านการระดมทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณ พัสดุครุภัณฑ์ และกองทุนเพื่อการศึกษา 3) การบริหารบุคลากร ด้านปัญหาและการแก้ไขครูผู้สอนที่ไม่เพียงพอ และการพัฒนาครูผู้สอน 4) การบริหารทั่วไป ด้านการประสานกับชุมชนเพื่อจัดการศึกษา การมีส่วนร่วมของสถานศึกษาเครือข่ายและชุมชน งานธุรการ การจัดทำข้อมูลผู้เรียน และการติดตามผู้สำเร็จการศึกษา 5) อื่น ๆ เช่น ปัจจัยความสำเร็จ ปัจจัยที่เอื้อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาอุปสรรค และผลที่เกิดขึ้นกับผู้สอน ผู้เรียน สถานศึกษา และชุมชน รวมถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของโรงเรียน

จากนั้น ที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) ดัชนีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. 2566 โดยผลดัชนีการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 3 มิติ คือ มิติที่ 1 ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต มิติที่ 2 ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต และมิติที่ 3 ผลของการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งในภาพรวมของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ จังหวัดที่ได้คะแนนสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และอ่างทอง ทั้งนี้คณะทำงานจะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่และ (ร่าง) ดัชนี่ดังกล่าวไปประกอบการจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ผลักดันเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด