สกศ. ระดมสมองเร่งหาแนวทางจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาเพื่อสามเณร

image

วันที่ 8 มกราคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัด "การประชุมระดมความคิดเพื่อหาแนวทางสำหรับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาให้กับสามเณร" โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมาย เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยพระราชญาณกวี พระภิกษุวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก รวมถึงพระภิกษุ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมธรรมสถานเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

มูลเหตุของการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากพระราชญาณกวีได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว (Home School) ให้แก่สามเณรซึ่งพักอยู่ในวัดและได้แจ้งต่อสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ภายหลังสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รับหนังสือต่อมาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 โดยประเด็นสำคัญที่พบคือคำว่า "ครอบครัว" "ผู้จัดการศึกษา" และ "ผู้เรียน" ในกฎกระทรวงดังกล่าวล้วนถูกผูกมัดกับพันธะทางสายเลือด มีเพียง"ผู้จัดการศึกษาที่อาจ" เป็น 'ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากครอบครัวนั้นให้จัดการศึกษา' ได้ ด้วยเหตุนี้อาจเกิดประเด็นที่ขัดแย้งต่อข้อกฎหมายได้ สภาการศึกษาจึงต้องเร่งหารือเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ในที่ประชุมได้กล่าวถึงความสำคัญของปัญหานี้ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้สามเณรได้เข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาหากแต่ยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายบางประการ หลังจากนั้นที่ประชุมร่วมหารือแปลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงประเด็นข้างต้นเกิดข้อเสนอแนวทางสำหรับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาให้กับสามเณรเป็น 6 แนวทาง ดังนี้
          ▪️แนวทางที่ 1 กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 - ให้ครอบครัวของสามเณรเป็นผู้ยื่นขออนุญาตจัดการศึกษา โดยมอบให้พระภิกษุที่ครอบครัวของสามเณรฝากไว้ในการดูแลเป็นผู้ดำเนินการ
          ▪️แนวทางที่ 2 กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2548 - ให้กรณีนี้ยังไม่เกิดโอกาสให้สถาบันพระพุทธศาสตรจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาได้
          ▪️แนวทางที่ 3 พรบ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 - ให้สามเณรไปเรียนร่วมกับคฤหัสถ์
          ▪️แนวทางที่ 4 พรบ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 - การจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัด มีฐานะเป็นโรงเรียนเอกชน เพื่อสามารถแยกห้องเรียนเฉพาะเณรได้
          ▪️แนวทางที่ 5 พรบ. ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 - ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับมหาเถรสมาคมจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (ในระดับประถมศึกษา) แล้วจึงออกประกาศนียบัตรโดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้
          ▪️แนวทางที่ 6 พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 - กำหนดนิยามหรือตีความการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมถึงระดับประถมศึกษา

จากการระดมความคิดในที่ประชุมถึงมีการอภิปรายถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทาง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนแนวทางต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่ปฏิบัติได้ง่าย มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย สามารถดำเนินการได้รวดเร็วเห็นผลในระยะสั้น และสะดวกต่อการดำเนินการต่อในระยะกลางและยาว 

สกศ. พร้อมร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยในทุกรูปแบบ ดังกรณีข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เพิ่มมิติแห่งการศึกษาให้มีมาตรฐาน ทั่วถึง เท่าเทียมและหลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อคนไทยทุกเพศทุกวัย

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด