สกศ. เยือนบ้านแม่แมะ ถอดบทเรียนจากผืนป่า ชูคุณค่าภูมิปัญญา สร้างคนไทยหัวใจสีเขียว

image

เมื่อวันที่ 20 - 21 ธันวาคม 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ลงพื้นที่ศึกษา องค์ความรู้การปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของปราชญ์ชาวบ้าน จากนายวงศ์ แก้วใจมา  ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากร ลงพื้นที่ทำแนวกันไฟ และซึบซับการอนุรักษ์ผืนป่า ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่แมะ ณ หมู่บ้านแม่แมะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 

หมู่บ้านแม่แมะเป็นพื้นที่เขาสูง อุดมไปด้วยป่าเมี่ยง (ชา) และไม้นานาพรรณ เดิมมีการหักร้างถางป่าเป็นที่ทำกิน เกิดน้ำหลากจนชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพย้ายที่อยู่ นำไปสู่คิดหาหนทางอนุรักษ์ผืนป่าด้วยเชื่อว่าจะสามารถทำให้ชาวบ้านได้กลับมาอาศัยในบ้านเกิดเมืองนอนได้อย่างยั่งยืน จึงมีการจัดตั้ง  กรรมการราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า   โดยครูวงศ์ แก้วใจมา เป็นประธานกรรมการ เชิญชวนชาวบ้านมาร่วม  รักษาผืนป่าด้วยหลักอริยสัจสี่  คือ การเรียนรู้และค้นหาสาเหตุของภัยจากธรรมชาติจากการกระทำของมนุษย์ ร่วมค้นหาวิธีการแก้ปัญหาในชุมชนโดยคนในชุมชน และเมื่อได้วิธีการแล้วก็ร่วมกันปฏิบัตินำไปสู่การแก้ปัญหา ด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ
 จัดการป่าชุมชนโดยกำหนดเขตพื้นที่เป็นป่าใช้สอย ป่าทำกิน และวางแผนปลูกป่าในพื้นที่อนุรักษ์ 
 ตั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับการรักษาป่าเขตต้นน้ำ
 เผยแพร่ภูมิปัญญาการทำแนวกันไฟ การดับไฟป่า และกรรมการทำหน้าที่ตรวจป่าเพื่อป้องกันการทำลายป่า
 “เน้นคนอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่ทำลายธรรมชาติ” ส่งเสริมการนำผลผลิตจากป่ามาใช้ในการทำ “วิสาหกิจชุมชน” เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว เช่น ปลูกป่าไผ่และนำมาใช้ในการจักสาน ปลูก-ผลิตใบชา การแปรรูปลูกตาว การปรุงยาจากพืชสมุนไพร

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ครูวงศ์ แก้วใจมา ได้เล่าถึงความตั้งใจที่จะส่งต่อภูมิปัญญาด้วยการให้ลงมือปฏิบัติ ด้วยเชื่อว่าจะช่วย “ปลูกและฝังความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติ” เข้าไปสู่หัวใจของนักเรียน ทีม สมร. และนักวิจัย ได้อย่างยาวนาน โดยครูและชาวบ้านได้นำเด็กๆ และคณะ ลุยป่าเข้าไปเรียนรู้การทำแนวกันไฟ การทำใบชาเพื่อต่อยอดวิสาหกิจชุมชน ส่งต่อภูมิปัญญาที่ช่วยให้รู้ว่า พืชอะไรกินได้ กินไม่ได้ การเดินอย่างไรไม่ให้หลงป่า การสังเกตรอยเท้าสัตว์ การสังเกตน้ำป่าเพื่อระวังภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้คณะลงพื้นที่ได้ร่วมบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ประเพณีท้องถิ่นที่ชาวหมู่บ้านแม่แมะสืบทอดกันมาช้านาน

ทั้งนี้ คณะลงพื้นที่ได้มีการสนทนากลุ่ม (Focus Group)  เพื่อเจาะลึกถึงปัจจัยความสำเร็จในการปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยครูวงศ์และผู้แทนชุมชนได้แบ่งปันการใช้หลักอริยสัจสี่ที่ให้ชาวบ้าวได้ลงไปเห็นปัญหาและสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันว่า หากไม่ทำแนวกันไฟ หรือไม่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไรบ้าง อีกทั้งยังมีการเสริมแรงให้กับชุมชนด้วยการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ  อาทิ หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน จังหวัดเชียงใหม่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้เชียงใหม่  รวมถึงกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จากนี้ ทีม สมร. จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้รับมาจัดทำรายงานปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการส่งเสริมทักษะการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของปราชญ์ชาวบ้าน  ในรูปแบบวีดิทัศน์และหนังสืออ่านง่าย เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ไปสู่เครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด