วันที่ 20 ธันวาคม 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ลงพื้นที่ศึกษา การขับเคลื่อน "เชียงใหม่ • เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) จากการคัดเลือกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) " โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ • ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากร ศึกษาการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้จาก เทศบาลนครเชียงใหม่ และโรงเรียนบ้านปลาดาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
| • เทศบาลนครเชียงใหม่ โรงเรียนฮวมสุข พื้นที่ความสนุกของพ่ออุ้ย ~ แม่อุ้ย |
นางสาวอุมาทิพย์ ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักการศึกษา ร่วมให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่เชียงใหม่ได้รับการคัดเลือกเป็น Learning City ในปี 2563 เทศบาลฯ ได้พัฒนาแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมให้เข้าถึงคนทุกช่วงวัย โดยในปีนี้มุ่งเน้นการดูแล ผู้สูงอายุ ซึ่งมีมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากร หรือประมาณ 30,000 คน ซึ่งทำให้เชียงใหม่เป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society)
เทศบาลนครเชียงใหม่ แบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่มตามไลฟ์สไตล์ คือ ติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง ซึ่งมีการดูแลและการให้สวัสดิการที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ เทศบาลฯ ได้เปิด •• โรงเรียนฮวมสุข •• เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีสังคมคุณภาพ มีเพื่อน เรียนสนุก เพราะได้ออกแบบวิชาเรียนตามความสนใจจนมีผู้สูงอายุชักชวนกันมาเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง เกิดระบบดาวกระจายขยายโรงเรียนผู้สูงอายุไปยังอำเภออื่น ๆ อย่างเช่นอำเภอดอยสะเก็ด ต่อยอดสู่กิจกรรม Walk-in เคาะประตูบ้านดูแลสุขภาพผู้สูงวัยให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว จากการหารือพบว่า ปัจจัยท้าทายของเมืองเชียงใหม่คือ กลุ่มคนไร้รัฐ ไม่มีเลขบัตรประชาชน • ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษา สิทธิ์รักษาพยาบาล และการรับวัคซีน
| • โรงเรียนบ้านปลาดาว Makerspace นวัตกรรมห้องเรียนนักสร้างเพื่อครอบครัวชนกลุ่มน้อย
นางมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว และคณะครู ร่วมให้ข้อมูลและนำทีม สมร. ร่วมเรียนรู้กับเด็กๆ ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนจึงมุ่งสอนทักษะ อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยในระดับประถมศึกษา มีห้องเรียนนวัตกรรม Makerspace ทั้งหมด 7 ห้อง ได้แก่ อาหาร ห้องศิลปะ ห้องเล่านิทาน ห้องสตูดิโอ ห้องผ้า ห้องช่าง และห้องทดลอง Makerspace เป็นกิจกรรมคละชั้นกันระหว่างเด็กอนุบาล และระหว่าง ป.1 – ป.6 เมื่อถึงคาบเมกเกอร์เด็กๆ จะกระจายตัวกันไปเลือกเข้าห้องที่สนใจอย่างอิสระ โดยครูไม่ได้กำหนดโจทย์ไว้ตายตัว เพื่อให้เด็กๆ สามารถเลือกทำงานคนเดียวหรือเป็นกลุ่มก็ได้
นอกจากนี้ โรงเรียนยังใช้กระบวนการสอนแบบ PBL ~ Project Based Learning ที่มีหัวใจสำคัญคือกระบวนการที่เรียกว่า -- EDICRA -- เพื่อให้นักเรียนแก้ปัญหาที่ได้รับได้สำเร็จด้วยตนเอง ประกอบด้วย
Explore • สำรวจปัญหา
Define • ระบุปัญหา
Investigate • เจาะลึกมุ่งแก้ปัญหา
Create • สร้างนวัตกรรม
Reflect • สะท้อนความคิด
Act • แก้ปัญหาแก่ผู้อื่น โดยเด็กจะเผยแพร่ไปยังชุมชนตัวเอง ทั้งชุมชนในโรงเรียนนอกโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ของเขา และสิ่งที่เขาค้นพบไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน
ทั้งหมดนี้คือ ความมุ่งมั่นและสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มทุกวัยได้เข้าถึงการศึกษา เช่นเดียวกับทีม สมร. ที่เชื่อว่า "การเรียนรู้ เปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้" จากนี้ จะมีการนำองค์ความรู้ที่ได้มาขับเคลื่อนสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้คุณภาพในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
ขอบคุณภาพจาก : โรงเรียนบ้านปลาดาว (Starfish Country Home School)