สกศ. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเตรียมพร้อมประชุม การติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก ณ จังหวัดชลบุรี
วันที่ 20 ธันวาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและเตรียมความพร้อมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก นำทีมโดย นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วย นางศิริพร ศริพันธุ์ อดีตที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินและการศึกษา สำนักนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ นางขนิษฐา ห้านิรัติศัย นางนิตย์ โรจน์รัตนวาณิชย์ นางเจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท้องคุ้งและวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท้องคุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบลนาป่า โดยมี นางมลฤดี กานนท์ รองปลัดเทศบาลตำบลนาป่า รักษาการผู้อำนวยการกองการศึกษา นางสาวศิริพร แก้วซิ้ม ครู รักษาการหัวหน้าสถานศึกษา ศพด.บ้านท้องคุ้ง ครูและบุคลากรสถานศึกษาให้การต้อนรับร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เยี่ยมชมภายในศูนย์ฯ ที่มีการพัฒนาและการดูแลเกี่ยวกับการศึกษา ที่ "มุ่งพัฒนาแบบเน้นเด็กเป็นสำคัญ มีทักษะชีวิต เป็นเด็กดี มีวินัย เห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น รักความเป็นไทย ใช้ชีวิตแบบพอเพียง" ภายในศูนย์ฯ มีครูและบุคลากรรวม 23 คน ต่อเด็กปฐมวัยทั้งหมด 279 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนบุคลากรต่อเด็กค่อนข้างน้อย แต่โดดเด่นในด้านระบบการจัดการที่ดี คือ ระบบการคัดกรองเด็กปฐมวัยและการประสานงานส่งต่อกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในระดับจังหวัดและระดับเขต รวมถึงได้รับการคัดเลือก 1 อำเภอ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบการบริหารการจัดการที่ดี ถือเป็นการสะท้อนในด้านระบบการดูแลเด็กปฐมวัยที่เข้มแข็งได้เป็นอย่างดี
สำหรับช่วงบ่ายลงพื้นที่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี บุคลากรและเจ้าหน้าให้การต้อนรับ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคชลบุรีมีอุดมการณ์ด้านการศึกษาคือ “การมีงานทำ รายได้สูง ทักษะเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม ล้ำเลิศวิชา” โดยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้คนไทยได้รับการพัฒนาสู่การศึกษาที่ก้าวหน้า สร้างมูลค่าแรงงานไทย นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายของการศึกษา (Demand Driven Education EEC Model type A) สำหรับ EEC MODEL type A เป็นความร่วมมือระหว่างสถานบันการศึกษากับผู้ประกอบการ คือ 1) การจัดหาประสานกับอุตสาหกรรม 2) คัดเลือกผู้เรียน และทำสัญญาสนับสนุน 3) จัดทำหลักสูตรร่วมให้ตอบโจทย์การทำงานและการเรียนรู้ 4) WORK Integrated Learning 5) จบการศึกษาได้วุฒิบัตรและใบรับรองจากฐานวิชาชีพ และ 6) เข้าทำงานกับอุตสาหกรรมที่สนับสนุน ซึ่งเน้นการปฏิบัติจริงในเรื่องการผลิตกำลังคน ท่ามกลางข้อจำกัดในด้านความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสมรรถนะความสามารถของคนในสายงานอาชีวะภายใต้มาตรฐานสากล รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนด้วย
นอกจากนี้ คณะทำงานได้เตรียมการและเตรียมความพร้อมของสถานที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ณ สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อสะท้อนไปสู่การจัดทำข้อเสนอประกอบการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์การศึกษาและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป