มุ่งคิดเป็นทำได้ สกศ. ผนึกกำลังภาคเอกชนขับเคลื่อน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา มอบหมาย นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาข้อเสนอในการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ พร้อมด้วย นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมปรึกษาหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ที่ประชุมร่วมกันแสดงความความเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับ (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาฯ ในหลายประการ อาทิ วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดการศึกษามีการแบ่งระดับช่วงวัย (7 ช่วงอายุ) ที่ระบุสมรรถนะ (Competency) ชัดเจน มีการกำหนดบทบาทและคุณลักษณะของครูผู้สอนให้เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) มากขึ้น มีการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามเทรนด์การศึกษาโลก มีแนวทางการสะสมเครดิต และมีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นและเอกชนมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก เริ่มตั้งแต่อายุ 3 ขวบเป็นต้นไปเพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ได้ดี ควรเพิ่มการเรียนมิติหน้าที่พลเมือง (Citizenship) ให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจการมีส่วนร่วมในสังคม ภาครัฐควรร่วมกับภาคเอกชนสร้างโมเดลการศึกษาสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ และเสนอให้มีการระบุการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา จัดการศึกษาสายอาชีพและระบบทวิภาคีเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ มุ่งคิดเป็นทำได้ ส่งเสริมผู้เรียนให้เข้าใจเกี่ยวกับอาชีพ พัฒนาประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการจริง มีรายได้ระหว่างเรียน มีทักษะฝีมือสามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ในอนาคต รวมถึงควรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) โลกกึ่งเสมือนจริง (Augmented Reality หรือ AR) และโลกเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR) เข้ามาใช้ในการจัดการสอนและแผนการศึกษาไทยในอนาคต
โดย สกศ. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ไปพิจารณาประกอบการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป