สกศ. ประชุมแนวทางจัดทำแผนวิเคราะห์ศักยภาพการศึกษาจังหวัดสู่การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ

image

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมแนวทางการวิเคราะห์ศักยภาพหรือต้นทุนของจังหวัดและการจัดทำแผนระดับที่ 3 โดยมี นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ศึกษาธิการจังหวัด และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น 2 อาคาร 1 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx 

การประชุมครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการในการวิเคราะห์ศักยภาพหรือต้นทุนของจังหวัด และแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ให้แก่ศึกษาธิการจังหวัดตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่นำร่องทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นราธิวาส สระบุรี สระแก้ว และชัยนาท ซึ่งได้สร้างความรู้ ความเข้าใจในการลงพื้นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนในการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด และการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 รวมถึงสร้างกลไกการมีส่วนร่วมและการบูรณาการการพัฒนาการศึกษาในจังหวัด และจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ 

ช่วงเช้าที่ประชุมรับฟังการบรรยาย เรื่อง “แนวทางการจัดทำแผนระดับ 3” จาก ดร.พชรวรรณ อุบลเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาศักยภาพคนและการเรียนรู้ กองยุทธศาสตร์การพัฒนามนุษย์และสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและกระบวนการจัดทำแผนระดับที่ 3 ตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีกำหนดแผน 3 ระดับ ได้แก่ แผนระดับที่ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมาย แผนระดับที่ 2 เป็นแนวทางการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ และนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติในแผนระดับที่ 3 ซึ่งแผนระดับที่ 3ประกอบด้วย 2 ลักษณะ คือ แผนปฏิบัติราชการ (แผนหน่วยงาน) และแผนปฏิบัติการ (ประเด็นร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงาน) แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงาน/โครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานในแต่ละปีงบประมาณ โดยต้องมีลักษณะเป็นแผนในเชิงปฏิบัติ เป็นแผนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของแผนระดับที่ 2 และแผนระดับที่ 1 อย่างเป็นรูปธรรม นำไปเป็นแนวทางการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดที่ถูกต้อง สมบูรณ์ตามหลักการต่อไป

สำหรับในช่วงบ่ายรับฟังแนวทางวิเคราะห์ศักยภาพหรือต้นทุนจากจังหวัด จาก ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้จัดการแผนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ด้านระบบนิเวศน์การศึกษามีทั้งระดับ micro (โรงเรียนและชุมชน) และ meso (จังหวัดหรือกลุ่มอำเภอ) ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ที่ต่างมีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนการศึกษา จากศักยภาพหรือต้นทุนสู่แผน มีแนวทางที่ต้องคำนึงคือ การตั้งเป้าหมายไม่ต้องใหญ่แต่ชัดเจนและสามารถทำได้จริงใช้แนวคิดแนวทาง Value Chain ตั้งโจทย์การศึกษาจากความเหลื่อมล้ำ คำนึงถึงภาคีฝ่ายต่าง ๆ และปัจจัยอื่น โดยมีแนวทางการต่อยอดขยายผล และวิธีวัดประเมินผลลัพธ์ที่ชัดเจน การวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหาและบริบทความต้องการจำเป็นของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกัน ในด้านลักษณะทางสังคมวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ สภาพเศรษกิจและการกระจายรายได้ การกระจายตัวของโรงเรียนในพื้นที่ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการสาธารณสุข การคมนาคม และการสื่อสาร การวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาแผนการศึกษาจังหวัดที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมชัดเจนเป็นรูปธรรมต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด