สกศ. เตรียมความพร้อมสมุทรสาครก่อนประชุม การติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่หารือร่วมกับคณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางขนิษฐา ห้านิรัติศัย) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) พร้อมด้วยข้าราชการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมลงพื้นที่เพื่อวางแผนการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 1 ภาคกลาง ณ จังหวัดสมุทรสาคร
โดยคณะทำงานได้ลงพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร (นายอาคม ศาณศิลปิน) รองศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร (นางสาววนิดา ดิลกธนกุล) ข้าราชการ และคณะ ทางคณะให้ผลการดำเนินงานของกศจ.สมุทรสาคร โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมามีผลงานโดดเด่น อาทิ โครงการฟื้นฟูการเรียนรู้ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยจากผลกระทบ COVID-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น และเป็นพื้นที่นำร่องทดลองพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับโรงเรียนภายในจังหวัดสมุทรสาครที่สนใจเข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในอนาคต
ศธจ.สมุทรสาคร ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไว้ว่าพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาภายในจังหวัด แต่พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจยังขับเคลื่อนได้ไม่เต็มรูปแบบ อีกทั้งยังขาดการนำบทบัญญัติลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้ให้เสนอแนะเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ว่าควรมีหลักการ แนวคิด และแนวทางการขับเคลื่อนไปพร้อมกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นหน่วยงานกลางระดับจังหวัดที่ช่วยประสานขอความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาภายในจังหวัด
สำหรับสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่ประชาชน และในปี 2566 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ด้านการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ จากกระทรวงศึกษาธิการ
โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสมุทรสาคร (นางธนัชศรณ์ ศิริม่วง) รองผู้อำนวยการสำนักงานสกร.จังหวัดสมุทรสาคร (นางสาววราภรณ์ กลิ่นเกิด) ผู้อำนวยการสกร.อำเภอเมืองสมุทรสาคร (นายเอนก ปานทิพย์) ข้าราชการสกร. และคณะ นำเยี่ยมชมศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม กศน.อำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ "OOCC" และเป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงสินค้าและชิ้นงานจากนักศึกษากศน.และคนในชุมชน โดยศูนย์ดังกล่าวมีชิ้นงานที่เป็นจุดเด่น ได้แก่ น้ำพริกปลาสลิด แคปซูลยาฟ้าทะลายโจน ต่อจากนั้นได้เยี่ยมชมห้อง steaming ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาได้ใช้เป็นห้องถ่ายทอดสดการจัดการเรียนการสอน ปัจจุบันใช้ประโยชน์สำหรับการประชุมผ่านสื่อดิจิทัล
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารสกร. จังหวัดสมุทรสาคร ได้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้น ว่าควรให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้สอดรับกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ฃ