สกศ. ลุยพื้นที่เมืองเศรษฐกิจศึกษาแหล่งเรียนรู้แบบ BCG Economy ณ บริษัท แมกโนเลีย จำกัด
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเพื่อวิเคราะห์สภาวการณ์และความต้องการการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG Economy โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วย ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา นายวีรพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา นำทีมบุคลากร สกศ. เข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ และ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอปอเรชั่น จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
การประชุมครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาธุรกิจและงานวิจัยที่สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว การออกแบบแหล่งเรียนรู้ของโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ ที่ตอบสนองการเรียนรู้ทุกช่วงวัย วิถีชีวิตสังคมเมือง และการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนา รวมถึงการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG Economy
สำหรับโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีบ้านพักอาศัย ศูนย์การแพทย์สุขภาพ ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนและพื้นที่กิจกรรมส่วนกลางร่วมกันได้ มีวิสัยทัศน์การพัฒนา คือ “Happy Living Community for Intergeneration” ที่นำธรรมชาติ สัตว์ มนุษย์ทุกช่วงวัยสามารถทำกิจกรรมร่วมกันภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและเอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัยและยั่งยืน โดยทีม สกศ. ได้ร่วมเรียนรู้การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG Economy มาออกแบบวิถีชีวิตสังคมเมืองที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัยแต่ยังคงระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเรียนรู้จากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกช่วงวัย
ในช่วงบ่ายได้ศึกษา ณ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ที่มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อลดผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อสังคมเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ระบบนิเวศที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ทีมสกศ. ได้เห็นถึงภาพรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและวัสดุศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ พลังงาน น้ำ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้รองรับกับวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับแนวทาง BCG Economy ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ทั้งนี้ สกศ.จะนำข้อมูลการศึกษาครั้งนี้เป็นแนวทางการวิเคราะห์สภาวการณ์การจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและการพัฒนาประเทศต่อไป