วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมหารือ “การพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงการศึกษาในระบบกับการศึกษานอกระบบด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ” โดยนางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา นางศิริพรรณ ชุมนุมและนายกิตตินันท์ ครุฑพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สกศ. และมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ (นางสาวชุติพร เสชัง) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครสวรรค์เข้าร่วมการประชุม
ที่ประชุมได้หารือแนวทางการพัฒนากำลังคนของจังหวัดนครสวรรค์ที่เชื่อมโยงกับงาน NQF เพื่อพัฒนากำลังแรงงานในจังหวัดให้มีทักษะและสร้างรายได้ เนื่องจากแรงงานในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยมีสำนักงานแรงงานจังหวัดสนับสนุนให้แรงงานนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอาชีพเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนของประเทศ
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นในที่จังหวัดนครสวรรค์มีศักยภาพ เช่น การทอผ้า ช่างตัดเสื้อ ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF โดยพัฒนาสมรรถนะหลักของอาชีพให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติ เมื่อจบหลักสูตรสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้ และสถานศึกษาที่เปิดสอนการอาชีวศึกษาทั้ง ๒ แห่ง คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาและวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ได้จัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ อนึ่ง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการถ่ายภาพ การถ่ายวิดิโอ จำนวน 60 ชั่วโมง ซึ่งผู้เรียนสามารถเก็บสะสมไว้ในระบบธนาคารหน่วยกิตและนำไปใช้ในการเทียบโอนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ รวมถึงให้การแนะแนวในอาชีพเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้เรียน โดยมีแนวทางการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนทั้งในและนอกระบบได้มีโอกาสในการตัดสินใจในการพัฒนาทักษะและมีคุณวุฒิเพิ่มเพื่อเสริมรายได้ มีการเตรียมอาชีพเพื่อรองรับแรงงานที่กลับภูมิลำเนา
ต่อจากนั้นช่วงบ่ายได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ซึ่งเปิดสอนในระดับ ปวช. ปวส. และระดับเทคโนโลยีบัณฑิต โดยวิทยาลัยได้เปิดสาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้าและเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบันและรองรับความต้องการในอนาคต ทั้งนี้ ผู้เรียนได้รับรางวัลในการแข่งขันทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนในระดับพื้นที่ เพื่อนำนโยบายสู่การปฏิบัติของสำนักงานฯ ในครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน/ฝึกอบรมของสถานศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ทุกระดับและประเภท เพื่อให้หลักสูตรมีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF และยกระดับกำลังคนรวมถึงการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่