สกศ. ประชุมคณะอนุฯ Update ผลการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ

image

 

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านประเมินผลการจัดการศึกษา ครั้งที่ 5/2566 โดยมีนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เป็นประธานอนุกรรมการ  พร้อมด้วย นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา คณะอนุกรรมการฯ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี  สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมรับฟัง (ร่าง) บทวิเคราะห์ผลการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ในระยะ 5 ปีแรกของแผน (พ.ศ. 2560 - 2564) ผลการดำเนินการติดตามและประเมินผลฯ พบว่า หน่วยงานทุกระดับมีการขับเคลื่อนจุดเน้นตามภารกิจและความรับผิดชอบของตนเอง มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ครอบคลุมทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ กำกับติดตามอย่างเป็นระบบ เน้นบรรลุตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้เป็นสำคัญจากการลงพื้นที่กรณีศึกษาจังหวัดสตูล มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ เช่น ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนฯ มีการส่งเสริมผู้เรียนให้มีรายได้ระหว่างเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว ด้านการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดการศึกษาควบคู่กับการพัฒนางานฟาร์มเพื่อสร้างรายได้ สร้างภูมิทัศน์ภายในสถานศึกษาให้มีความปลอดภัย ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพฯ มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่เป็นดิจิทัล และจัดการศึกษาแบบครบวงจร ในส่วนของผลการวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ พบว่า บุคลากรมีความรู้ความพร้อมและการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และ มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรค คือ ขาดความพร้อมด้านสภาพแวดล้อม งบประมาณ บุคลากร และการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

จากนั้น ที่ประชุมร่วมพิจารณา (ร่าง) แนวทางการจัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง เพื่อติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ จำนวน 6 พื้นที่ ครอบคลุม 6 ภูมิภาค รวม 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เนื่องด้วยจังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่นวัตกรรมที่มีความโดดเด่นหลากหลาย อาทิ 1) โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญญาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ(Montessori) 2) การเรียนการสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี (Montessori) ซึ่งมีครอบคลุมประเด็นการดำเนินงานฯ จึงเป็นจังหวัดเป้าหมาย เพื่อรับทราบข้อมูลสภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษา สภาวการณ์การศึกษา สภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการศึกษา 
ทั้งนี้ จะมีการประชุมครั้งต่อไปในช่วงเดือนมกราคม 2567 สำหรับวางแนวทางและกำหนดการการลงพื้นที่เก็บข้อมูลกรณีศึกษาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษต่อไป เพื่อนำไปใช้ประกอบการดำเนินงานฯ อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนวทางการประเมินผลการพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรมต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด