สกศ. ปักหมุดศรีสะเกษเตรียมลุยพื้นที่นวัตกรรมติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ

image

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะทำงานติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ครั้งที่ 5/2566 โดยมีนายเหมพงศ์ ทวีกาญจน์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี ชั้น 3 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม Cisco WebEx

ที่ประชุมรับฟังสรุปผลการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ในระยะ 5 ปีแรกของแผน (พ.ศ. 2560 - 2564) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลการวิจัยการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนฯ เพื่อให้เห็นภาพรวมของประเทศ และการลงพื้นที่ให้เห็นบริบทที่ชัดเจนขึ้น มีรายละเอียดสำคัญดังนี้ 

 

           1) ผลการติดตามสภาพการดำเนินงานตามแผนฯ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าหน่วยงานทุกระดับมีกระบวนการดำเนินงานตามแผนฯ และตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีครอบคลุมทุกยุทธศาสตร์ รวมทั้งกำกับและติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการดำเนินการให้บรรลุตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ 
           2) ผลการประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ด้านเดียวที่มีแนวโน้มบรรลุตามเกณฑ์ ได้แก่ การขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่ 
           3) ผลการวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ คือ บุคลากรมีความรู้ และการบริหารการจัดการที่เป็นระบบ ในขณะที่ปัจจัยอุปสรรค คือ บุคลากรยังขาดความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ และงบประมาณไม่เพียงพอ 
           4) ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน ด้านกำหนดกรอบแนวทางการทำงานในเชิงรุก การบูรณาการการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนากลไกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของแต่ละพื้นที่

 

จากนั้น ที่ประชุมร่วมพิจารณา (ร่าง) แนวทางการจัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “การบูรณาการความร่วมมือเพื่อการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ” จากข้อมูลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครอบคลุม 6 ภูมิภาค รวม 8 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พบว่าจังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่โดดเด่นหลากหลาย เช่น โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญญาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Montessori) ที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ 

จากความหลากหลายข้างต้น จังหวัดศรีสะเกษจึงเป็นเป้าหมายที่จะลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องของสถานศึกษา และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ เพื่อรับทราบข้อมูลสภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษา สภาวการณ์การศึกษา สภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการศึกษา มีความชัดเจนและถูกต้องเป็นไปตามระเบียบวิธีดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนวทางการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด