สกศ. เทศบาลนครภูเก็ต ปันเคล็ดลับสร้าง Learning City อย่างไรให้โดนใจคนทุกช่วงวัย จนคว้ารางวัลจาก UNESCO ได้
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่ศึกษา การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ให้ได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ • ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากร ศึกษากระบวนการจัดการเรียนการสอน ณ เทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งได้รับเกียรติจาก • นายวรรณรัตน์ พฤกษ์ประทิ่น ประธานสภาเทศบาลนครภูเก็ต นางสาววนิดา เหมรา ผู้อำนวยการส่วนบริหารการศึกษา ผู้แทนจากศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ CIC เทศบาลนครภูเก็ต (Creativity & Innovation Center) และอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต ร่วมให้ข้อมูล
ปี 2563 เทศบาลนครภูเก็ตผ่านการคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็นภาคีเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับสู่การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ตามเป้าหมายการพัฒนา Phuket Learning City คือ “สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่น่าค้นหาของทุกคน โดยใช้อัตลักษณ์เมืองเป็นฐาน” ต่อยอดสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ
ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครือข่ายเทศบาล 7 แห่ง ร่วมขับเคลื่อนการสร้าง Learning City ตอบโจทย์การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย อาทิ โรงเรียนเทศบาลอนุบาลภูเก็ต - เตรียมพร้อมด้านภาษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี – ร่วมดูแลและส่งเสริมศักยภาพเด็กพิเศษ รวมถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว และโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ ซึ่งทีม สมร. ได้ศึกษาดูงานก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ยังมีแหล่งเรียนรู้สร้างสรรคทั่วเมืองภูเก็ต โดยร่วมมือกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในการก่อตั้ง |• อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK Park) •| ห้องสมุดมีชีวิตและพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก ๆ หลังเลิกเรียน รวมถึง |• ศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ CIC เทศบาลนครภูเก็ต •| ที่ออกแบบการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีตามความต้องการของคนในพื้นที่ ด้วยรูปแบบ Play & Learn ผ่านบอร์ดเกม กีฬา E-Sport กิจกรรมนักเล่าฟันน้ำนม การสอนเทคโนโลยีสร้างอาชีพ เช่น การไลฟ์ขายสินค้าทาง Tiktok การใช้ Chat GPT รวมถึง CIC Clinic - สอนการใช้แอปพลิเคชั่นสอนสำหรับผู้สูงวัยและเพิ่มการรู้เท่าทันสื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ และในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการจัดงาน Phuket Gastronomy ในฐานะสมาชิกโครงการเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นนำไปสู่การอนุรักษ์ภูมิปัญญา กระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้คืนสู่ชุมชน
ทีมผู้แทนจากเทศบาลนครภูเก็ต ชี้ปัจจัยสำเร็จของการสร้าง Learning City คือ ทำอย่างไรให้คนในเมืองเห็นถึงความสำคัญว่าการเรียนรู้สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตและเพิ่มมูลค่าให้การประกอบอาชีพในท้องถิ่น โดยผู้ขับเคลื่อนงานจะต้องไม่ทิ้งอัตลักษณ์ในพื้นที่ นำความคิดสร้างสรรค์มาบูรณาการทั้งภาษา วัฒนธรรม ประเพณี อาหาร ศาสนาสถาน และสถานที่ท่องเที่ยว มาสื่อสารให้คนในพื้นที่เกิดความภาคภูมิใจ อยากร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของท้องถิ่นไปยังเครือข่ายของแต่ละคนจนเกิดเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน • จากนี้ ทีม สมร. จะถอดบทเรียน และเกณฑ์การคัดเลือกของ UNESCO เพื่อขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนทุกช่วงวัย เสริม Growth Mindset ให้คนไทยเป็นคนที่รักการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างแท้จริง