สกศ. ศึกษาโมเดลขับเคลื่อนสถานศึกษา สร้าง Learning City • พิพิธภัณฑ์วิถีชุมชน ณ โรงเรียนเทศบาลบางเหนียว
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่ศึกษา การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ผ่านสถานศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ • ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากร ศึกษากระบวนการจัดการเรียนการสอน ณ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับเกียรติจาก • นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย • ดร.ปัจจาภรณ์ โชติแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ คณะครู นักเรียน และผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ต • ร่วมให้ข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์สร้างกระบวนการเรียนรู้
โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว เป็นเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ของเทศบาลนครภูเก็ต จนได้รับการคัดเลือกเป็นภาคีเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2563 โดยโรงเรียนได้ร่วมกับชุมชนก่อตั้ง ศูนย์การเรียนรู้บูรณาการเอกลักษณ์ท้องถิ่นโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว หรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนบางเหนียว โดยใช้อาคารเรียนหลังเก่าเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการแสดงวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันงดงามของชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในชุมชนผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมี • เจ้าบ้านน้อย 4 ภาษา • ซึ่งเป็นนักเรียนที่ผ่านการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์น้อยตามหลักสูตรของโรงเรียนเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ทุกองค์ประกอบหนุนให้ได้รับการยกย่องให้เป็น "พิพิธภัณฑ์ในโรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย"
จุดเด่นของหลักสูตรโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว คือ •• สร้าง Learning City ควบคู่กับ Smart City เรียนรู้อัตลักษณ์ท้องถิ่นก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) •• ด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่
1) เทคโนโลยีการเรียนการสอน
- ได้รับการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตจาก True และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์-ดิจิทัล ทำให้โรงเรียนสามารถใช้ Facebook Live เป็นหลักตั้งแต่ช่วงโควิด • ให้เด็กได้เรียนรู้แบบ Play & Learn ให้อิสระคุณครูในการแต่งกายและชวนเด็ก ๆ มาแสดงบทบาทสมมติให้สนุกไปกับเนื้อหาสาระ
2) ภาษาถิ่นและภาษาต่างประเทศ
- มีภาคีเครือข่ายจากโรงเรียนนานาชาติในภูเก็ต และเพื่อนเรียนชาวต่างชาติ (Buddy) จากการสนับสนุนในโครงการของยูเนสโก
3) วัฒนธรรม-แหล่งเรียนรู้
- ชาวชุมชนให้ความเชื่อมั่นและร่วมนำโบราณวัตถุมามอบให้โรงเรียนศึกษาและนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ • โดยมี Museum Siam
เป็นพี่เลี้ยงในการสร้างประสบการณ์แก่ผู้ชมผ่านนิทรรศการ
4) เศรษฐกิจพอเพียงและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี
- ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และเป็นโรงเรียนปลอดขยะ Eco-School โดยมีสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นเครือข่าย
นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการวิชาสังคมศึกษาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ที่สอนเรื่องภูมิปัญญาชุมชนและแนวทางการเป็นเจ้าบ้านที่ดี นำไปสู่การปรับบทบาทของพิพิธภัณฑ์จากแหล่งจัดเก็บ (Passive) เป็นพื้นที่สร้างพลังชุมชน (Active) • โดยมีเครือข่ายวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำคนในชุมชน ผู้ปกครองนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ กิจกรรมหนึ่งห้องเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ ( One Class One Product ) และกิจกรรมอบรมการทำอาหารพื้นเมืองภูเก็ต เพื่อรักษาและต่อยอดอาชีพในท้องถิ่น
หลักคิด (Mindset) ของการจัดการเรียนการสอนสู่ Learning City ของโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว คือ เชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนทุกคน หนุนเสริมการคิดถึงสังคมส่วนร่วม เพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ส่งมอบคุณค่าสู่ชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันโรงเรียนสามารถขยายเครือข่ายการเรียนรู้ระดับนานาชาติ โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็น • โรงเรียนแห่งความสุข (Happy School Project) จากองค์การยูเนสโก • นำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับสถาบันการศึกษาในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย / ประเทศสิงคโปร์ และประเทศเกาหลีใต้ ทำให้นักเรียนมีเพื่อนเรียนชาวต่างชาติ (Buddy) ที่โรงเรียนส่งเสริมให้มีการติดต่อพูดคุยกันอยู่เสมอ อีกทั้งมีการศึกษาดูงานเพื่อนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ที่ไร้พรมแดนได้อย่างแท้จริง