สกศ. ลุยต่อ ! ถอดรหัสสร้าง Learning City เริ่มต้นที่สถานศึกษา ณ โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ
บ่ายวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่ศึกษา การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ผ่านสถานศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ • ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากร แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอน ณ โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมี • นางวิสา จรัลชวนะเพท ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ คณะครู และผู้ปกครอง ร่วมให้ข้อมูล
โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 3,408 คน เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ของเทศบาลนครภูเก็ต โดยมีการวางเป้าหมายตามตัวชี้วัดด้านการศึกษาประกอบกับการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) “Phuket Blue Print” ประกอบด้วย ตัวชี้วัดด้านโอกาสทางการศึกษา ตัวชี้วัดเมืองแห่งการเรียนรู้ และตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพทางการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยี Q - Info ช่วยเก็บข้อมูลการเข้าเรียนและติดตามผลการเรียน เพื่อนำไปออกแบบการเรียนรู้ตามความถนัดรายบุคคล (IDP) และเพิ่มหลักสูตรห้องเรียนพิเศษ รวมถึงหลักสูตรห้องเรียนสามภาษา ตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลายของนักเรียน จุดเด่นคือ โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองอย่างเข้มแข็ง มีการทำ MOU ร่วมกับผู้ปกครองเพื่อช่วยกันดูแลและส่งเสริมความสามารถของเด็กๆ ทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน
โรงเรียนได้วางเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เริ่มจากการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีการเยี่ยมบ้านนักเรียน 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรับฟังปัญหาจากผู้ปกครองและนำมาเป็นข้อมูลในการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน ด้านการเรียนการสอนแบบ Project Approch ตั้งแต่ระดับอนุบาล โดยมีผู้ปกครองเข้ามาร่วมเรียนรู้ให้นักเรียนได้ต่อยอดสู่การเป็น “นวัตกร” ปัจจุบันโรงสามารถส่งโครงการได้รับรางวัลสร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่น KPI New Gen จากสถาบันพระปกเกล้า
ด้านหลักสูตรมีการประยุกต์บริบทท้องถิ่นมาเป็น “หลักสูตรภูเก็ต ไข่มุกอันดามัน” เพื่อเสริมความรู้ภูมิปัญญาผสานการท่องเที่ยว แสวงหาแนวทางที่สามารถต่อยอดสู่การประกอบอาชีพที่ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
สำหรับการผสานเครือข่ายชุมชนและองค์กรเอกชนมาร่วมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน มีมูลนิธิสถาบันการศึกษาในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เพชรรัตนราชสุดาฯ มอบทุนการศึกษาและมาตรวจเยี่ยมเพื่อให้คำแนะนำด้านการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ บริษัท ซีพีออลล์ ร่วมสนับสนุน “โครงการต้นกล้าไร้ถัง” สอนและฝึกให้เด็กจัดการขยะแบบแยกถังและนำไปเผยแพร่ต่อที่ชุมชนของตน ซึ่งได้บูรณาการโครงการดังกล่าวเข้ากับทุกรายวิชา จากนี้จะมีการปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งชมรมผู้ปกครองและปราชญ์ท้องถิ่นจะเข้ามาร่วมให้ความรู้ และเตรียมต่อยอดด้านกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนต่อไป