"แตกต่างเหมือนกัน” : สกศ. X ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ เฟ้นไอเดียพัฒนา "Co-Learning Space กลุ่มชาติพันธุ์ " เรียนรู้อย่างเข้าใจ บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

image

 
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากรศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ (Co-Learning Space) ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน : กรณีศึกษาชนเผ่าอาข่า โดยมี นายอภินันท์ ธรรมเสนา นักวิชาการและผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายภารกิจของมานุษยวิทยาสิรินธร และแบ่งปันประสบการณ์ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร
 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวัฒนธรรมที่มีฐานข้อมูลด้านชาติพันธุ์ครบถ้วนมากที่สุดในประเทศ โดยทำงานแบบ “เสริมพลัง” (Empower) ให้กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยสามารถพึ่งพาตนเองบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและการยอมรับจากสังคม สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการดำเนินโครงการของ สกศ. ที่ร่วมขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วยการพัฒนาต้นแบบการจัดพื้นที่การเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จากความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่าง สกศ. • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ • และมหาวิทยาลัย “ชนเผ่าอาข่า” จังหวัดเชียงราย

วิทยากร - นายอภินันท์ ธรรมเสนา ได้ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีประชากรมากถึง 6.1 ล้านคน จาก 60 กลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่แทบทุกจังหวัดของไทย และแม้ว่าจะมีจำนวนมากเท่าใด แต่กลุ่มชาติพันธุ์ล้วนประสบปัญหาใกล้เคียงกันคือ • จนโอกาส – จนสิทธิ • ทั้งสิทธิทางกฎหมาย การประกอบอาชีพ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา

สำหรับ “ชนเผ่าอาข่า” ซึ่งแปลว่า คนที่อยู่ตรงกลาง นี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชุมชนเข้มแข็งที่ร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัยถ่ายทอดวิถีชีวิต พร้อมกับนำผลิตผลในชุมชนพัฒนาเป็นแบรนด์กาแฟ “อาข่า-อ่ามา” คืนรายได้สู่พี่น้องชาวอาข่า โอกาสนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ได้นำเสนอ “แผนที่กลุ่มชาติพันธุ์” https://ethnicity.sac.or.th/ และหารือถึงการลงพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ร่วมกับทีม สมร. เพื่อพัฒนา Co-Learning Space ที่สามารถสืบสานภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ช่วยให้ชุมชนมีรายได้และสามารถดำรงอัตลักษณ์ท่ามกลางการเข้ามาของทุนนิยมได้อย่างยั่งยืน

ทีม สมร. มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ทุกคนที่ "ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใดก็สามารถร่วมกันเรียนรู้ สร้างสรรค์ และล้วนเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้" จากนี้ จะนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาข้อริเริ่มใหม่ในการขับเคลื่อนประเด็นการเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน เครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด