สกศ. ลุยต่อ ณ ศูนย์การเรียนรู้ฯ KCC • ศึกษาฮาวทูพัฒนาฉะเชิงเทรา สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ที่ UNESCO ยกรางวัลให้
วันที่ 18 ตุลาคม 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ • ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากรลงพื้นที่ในโครงการติดตามผลและจัดทำแผนขับเคลื่อนการนำรูปแบบการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย 4.0 สู่การปฏิบัติ
โดยเดินทางไปยัง ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา (Knowledge Center of Chacheongsao : KCC) เพื่อศึกษากลไกพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเมืองแปดริ้วจนได้รับการยกย่องจากองค์กรระดับโลกอย่างองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็น | เมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City |
ศูนย์การเรียนรู้ฯ KCC ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมออกแบบอาคารรูปหนังสือซ้อนทับกัน 4 ชั้น ได้แรงบันดาลใจทั้งด้านสถาปัตยกรรมและแหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยจากศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลายเซ็นไดมีเดียเทค ของประเทศญี่ปุ่น
มีการจัดสรรพื้นที่การเรียนรู้ เป็น 9 โซน อาทิ
- Dream Square จัตุรัสนัดฝัน และ Our Home จัดเวทีการแสดงสำหรับชาวเมืองแปดริ้วทุกช่วงวัย และนิทรรศการหมุนเวียน โดยความร่วมมือกับ สสส.
- Living Library ห้องสมุดมีชีวิต โดยความร่วมมือจัดสรรและแลกเปลี่ยนหนังสือกับ TK Park
- Sound Studio ห้องสมุดดนตรี สำหรับฝึกซ้อม K-Pop Cover Dance
- โรงละคร KCC
นายดนย์ ทักศินาวรรณ หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา ให้เกียรติเป็นวิทยากรและเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการต่อยอดศูนย์การเรียนรู้ฯ KCC ขับเคลื่อนเมืองฉะเชิงเทราทั้งองคาพยพ จน UNESCO ประกาศให้ "เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา" เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563
ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ฯ KCC และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ได้กระชับความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคประชาสังคม เพื่อจับมือกันบรรลุเป้าหมายใหม่ คือ การส่งเสริมความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizens) เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนด้วย 5 กระบวนการสร้างคน
1) รู้เท่าทันในสิทธิและบทบาทหน้าที่ของตนเอง
2) เคารพผู้อื่นและให้คุณค่าในความแตกต่างและความหลากหลาย
3) มีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงและการดำเนินไปของโลก
4) มีความรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเอง
5) มีส่วนร่วมในชุมชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก
จากนี้ สกศ. จะนำองค์ความรู้และข้อเสนอที่ได้มาจัดทำแผนขับเคลื่อนการนำรูปแบบการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย 4.0 สู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนและชุมชนอื่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป