สกศ. ลุยเมืองฉะเชิงเทรา ศึกษาโมเดลสร้าง Learning Ecosystem ชุมชน • สถานศึกษา • นิคมอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนบ้านหนองสทิต
วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ลงพื้นที่โครงการติดตามผลและจัดทำแผนขับเคลื่อนการนำรูปแบบการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย 4.0 สู่การปฏิบัติ โดยมี นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สมร. นำทีมบุคลากรเก็บข้อมูลการทดลองนำร่องรูปแบบการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ในสถานศึกษากรณีศึกษาการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ในชุมชนอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนบ้านหนองสทิต และศูนย์การเรียนรู้ฉะเชิงเทรา (Knowledge Center of Chachoengsao : KKC) จังหวัดฉะเชิงเทรา
ช่วงเช้าคณะลงพื้นที่เดินทางไปยัง โรงเรียนบ้านหนองสทิต โดยมีนายสราวุธ อนีฆาศรีนนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ และคณะครูอาจารย์ ร่วมให้ข้อมูลและนำเยี่ยมชมการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้
โรงเรียนบ้านหนองสทิตเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนจำนวน 111 คน และเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนใกล้เขตอุตสาหกรรม จึงได้รับการสนับสนุนจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทั้งโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการกว่า 22 โครงการ และโครงการต่อเนื่อง 1 โครงการสำคัญ คือ "อาคารธนาคารขยะ" ที่บริษัทฮีดาโกโย เอ็นเตอร์ไพรส์ ร่วมสนับสนุนทุนหมุนเวียนให้โรงเรียนรับซื้อขยะจากนักเรียน เด็กๆ ได้ฝึกแยกขยะ และมีรายได้ ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
ระบบนิเวศการเรียนรู้ (Learning Ecosystem ) ของโรงเรียนแห่งนี้ เกี่ยวข้องกับ ชุมชนและนิคมอุตสาหกรรม อย่างใกล้ชิด ทุกฝ่ายและครูอาจารย์ แม้มีจำนวน 10 คน แต่สามารถเชื่อมโยงทุกหน่วยงานให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริงด้วยตนเอง (Experiential Learning) โดยบูรณาการวิชาเข้ากับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน
เด็กนักเรียนที่นี้สนุกและชอบการเรียนการสอนที่ได้ลงมือทำ เพราะได้เข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ได้เห็นประโยชน์จากลงแรงของตนว่าสามารถช่วยสังคมให้ดีขึ้นได้ ทั้งการคัดแยกขยะ การปลูกผัก ร่วมกิจกรรมสัปดาห์ปลอดภัยกับนิคมอุตสาหกรรม จนเกิดความเข้าใจ ความภูมิใจ ความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และจดจำองค์ความรู้เข้าจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลายตามความสนใจของตนเองได้