สภาการศึกษา x กสศ. เดินเกมรุก Area-Based Education สร้างโอกาสทางการเรียนรู้

image

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ จัดประชุมคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ 3/2566 โดยมีนายสกล กิตติ์นิธิ เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.)  นายพัฒนพงศ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผู้แทนจาก กสศ. และคณะทำงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

นายสกล กิตติ์นิธิ ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล Area-Based Education ระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่ายของ สกศ. โดยกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเรียนรู้และการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ได้บูรณาการข้อมูลเครือข่ายสมัชชาสภาการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงแนวทางการทำงานของบ้านเรียน (Home School) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับคนทุกกลุ่ม 

นายพัฒนพงศ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. นำเสนอโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ABE : Area-Based Education) โดยใช้กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ 3 ขา คือ 1) หน่วยงานสนับสนุนภายนอกพื้นที่ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและไม่ใช่ภาครัฐ  2) ภาคประชาสังคมภายในจังหวัด และ 3) หน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ รวมถึงโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ที่มุ่งสู่การขับเคลื่อนขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ซึ่ง กสศ. และ สกศ. ต่างเห็นตรงกันว่า การสร้างคุณภาพการศึกษาให้ยั่งยืน ต้องเริ่มจากการสร้างพื้นที่ให้เข้มแข็ง 

การบูรณาการงานต่อจากนี้จะดำเนินงานภายใต้แนวคิด “พื้นที่เป็นตัวตั้ง” รวมถึงส่งเสริมให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองให้เกิดความเป็นเจ้าของแบบมีส่วนร่วมจากพื้นที่ในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนการเปลี่ยนชุดความคิด เรื่อง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นของทุกคนในพื้นที่ “All for education” ที่ทุกภาคส่วนเป็นเจ้าของความสำเร็จ

จากนั้น ที่ประชุมร่วมรับฟังการถอดบทเรียนการบริหารจัดการโรงเรียนพระดาบส ที่ใช้วิธีการยืดหยุ่น เน้นในการเพิ่มโอกาสและช่วยกันออกแบบหลักสูตร ส่งเสริมให้ผู้เรียนรักในการเรียนรู้ ซึ่งทางคณะทำงานจะนำบทเรียนไปต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาต่อไป และการถอดบทเรียนโรงเรียนขนาดเล็กตัวอย่าง  โรงเรียนมหาราช 7 อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี สามารถตามเด็กนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจนจบ มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ZERO DROPOUT) ผ่านการเรียนใน 3 รูปแบบ คือ 1) การศึกษาภาคบังคับ 2) การศึกษานอกระบบ 3)การศึกษาตามอัธยาศัย ที่ผู้เรียนสามารถเลือกให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ อีกทั้งโรงเรียนมหาราช 7 ยังเตรียมเปิดตัวหลักสูตร online ที่สามารถเลือกเรียนได้ตามใจในปีการศึกษา 2567 อีกด้วย

นายเทวินฏฐ์ กล่าวเสริม ในสังคมที่เด็กแรกเกิดลดลงในทุก ๆ ปี การศึกษาทางเลือกอย่างบ้านเรียน (Home School) และศูนย์การเรียนรู้ เองก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เช่นกัน

นายสกล กล่าวว่า ภารกิจของกสศ. มีความสอดคล้องและสามารถสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สกศ. ได้ในบางเรื่องที่อาจมีข้อจำกัดด้วยหลายปัจจัย จึงเห็นควรให้มีผู้แทนจาก กสศ. ร่วมในคณะทำงาน โดย สกศ. จะรวบรวมข้อเสนอแนะและบทเรียนที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปประกอบการทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของคนไทยต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด