สกศ. ประชุมคณะอนุฯด้านประเมินผลการจัดการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพโลกเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
วันนี้ (๔ กันยายน ๒๕๖๖) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านประเมินผลการจัดการศึกษา ครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ โดยมี นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) คณะอนุกรรมการฯ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
.
.
ที่ประชุมร่วมรับฟังผลการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการติดตามและประเมินผลการศึกษาของประเทศ กรณีศึกษาจังหวัดสตูล ซึ่งมีความเห็นและข้อเสนอแนะ ๕ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ๑)สภาพการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ของหน่วยงาน มีการกำหนดแผนการดำเนินงานที่เชื่อมโยงแผนต่าง ๆตามลำดับ ๒)สภาวการณ์การศึกษาของสถานศึกษา มีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย มีแนวโน้มลดลง ผู้เรียนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีแนวโน้มการศึกษาต่อลดลง ๓)สภาพการใช้ทรัพยาการทางการศึกษา มีการวางแผนพัฒนาครูในแต่ละปีตามความจำเป็นเร่งด่วน แต่สื่อ เทคโนโลยี ยังมีไม่เพียงพอ ๔)ข้อเสนอแนะแนวทางในการติดตามและประเมินผลเพื่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ควรมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ แนวทางการติดตามและประเมินผลฯ และการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของสถานศึกษาให้ชัดเจน ๕)แนวทางการจัดทำระบบการติดตามและประเมินผลการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ มีการระดมความคิดเห็นใน ๒ ประเด็น คือ ตัวชี้วัดที่อยากให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเสนอเพิ่มเติม
.
.
จากนั้น ที่ประชุมร่วมพิจารณา (ร่าง) การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้แหล่งเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ซึ่งนำเสนอ ๓ ส่วน ที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนที่ ๑ แหล่งเรียนรู้ในยุคดิจิทัล แบ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางกายภาพ และแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล รวมถึงทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ ส่วนที่ ๒ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้แหล่งเรียนรู้ พิจารณาความพร้อมของทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ที่รัฐได้จัดสรรกับการเข้าถึงการใช้แหล่งเรียนรู้ อาคารสถานที่และความพร้อมของอุปกรณ์ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางกายภาพให้มีความทันสมัย และความพร้อมของแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัล ทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา โดยมีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทุกช่วงวัย และส่วนที่ ๓ ข้อเสนอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้แหล่งเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ๑)แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้แหล่งเรียนรู้ การปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ทางกายภาพให้มีศักยภาพและความพร้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนผ่านแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับสถานศึกษา ส่งเสริมบาทบาทครูในการเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษา ๒)การวิจัยและการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพฯ เช่นการวิจัยพฤติกรรมความต้องการใช้แหล่งเรียนรู้แต่ละประเภทและช่วงวัย การจัดสรรทรัพยากร และความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการด้านประเมินผลการจัดการศึกษา จะจัดการประชุมครั้งถัดไปภายในเดือน ตุลาคม ๒๕๖๖
.