สกศ. ศึกษา Case วิจัยทางการศึกษา ระดมไอเดียพัฒนาผู้เรียนยุคใหม่
วันนี้ (๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๖) สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา (คณะที่ ๕) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ โดยมี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นางประวีณา อัสโย) คณะอนุกรรมการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่ประชุมร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดที่ได้จากการศึกษา อาทิ ผลวิจัยการศึกษาของหน่วยงานและนักวิชาการ อาทิ การพัฒนาชุดรายวิชาสมรรถนะที่ส่งเสริมผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบเป้าหมายพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาจังหวัดภูเก็ต โดย ผศ.ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต รายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (DQ Digital Intelligence) ของผู้เรียนทุกช่วงวัย โดย ดร.ณัชภัส ธีระเรืองไชยศรี นักวิชาการอิสระ รายงานการวิจัยการศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Education) ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา กรณีศึกษาจากต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.เอื้อมพร หลินเจริญ มหาวิทยาลัยนเรศวร การวิจัยการพัฒนาสถานศึกษาตามแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) โดย ผศ.ดร.กอบสุข คงมนัส มหาวิทยาลัยนเรศวร และการศึกษาและพัฒนาระบบและกลไกหนุนเสริมการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะของสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ในพระบรมราชูถัมภ์
สกศ. ในฐานะองค์กรจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา แผน และมาตรฐานด้านการศึกษา รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำผลการวิจัยทางการศึกษาพัฒนาผู้เรียน สู่การสร้าง “การศึกษาเพื่อสร้างสมรรถนะคนไทยทุกช่วงวัย : Competency for All” สอดคล้องกับการแนวทางพัฒนาคนไทย ๔.๐ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ด้วยการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีการเพิ่มรายวิชาใหม่ๆ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคตของผู้เรียนด้วยการเพิ่มโอกาสและมูลค่าให้กับตนเอง และมีนิเวศการพัฒนาที่ส่งเสริมสอดรับกันตั้งแต่ละดับ Macro-Meso-Micro จากนั้นที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) รายงานผลการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ ประจำปี ๒๕๖๖ อันเป็นข้อเสนอในการจัดการเรียนรู้ การประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับ สู่การพัฒนาครูและบุคลากรให้พร้อมจัดการศึกษาสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติต่อไป
Download รูปภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/media/set?vanity=OECCHANNEL&set=a.804386108356443