สกศ. ลงพื้นที่เชียงแสน ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน
วันนี้ (17 สิงหาคม 2566) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) พร้อมด้วย อนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา (นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์) นำทีมคณะทำงาน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมการมีส่วนร่วมสนับสนุนทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียน (ดร.กัมพล ไชยนันท์) คณะครู และบุคลากรให้การต้อนรับ
.
.
ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังการอภิปรายเรื่อง ความสำเร็จในการมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดย ดร.กัมพล ไชยนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ถึงแนวทางการบริหารงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน โรงเรียนมีแนวทางการจัดการศึกษาฐานความจริงโดยใช้กลยุทธ์การพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ 1) พัฒนาคุณภาพผู้เรียนยุคดิจิทัล 2) พัฒนาระบบบริหารจัดการฐานดิจิทัล และ 3) พัฒนาการเรียนรู้แบบเชิงรุก ซึ่งเน้นการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงตามความต้องการและศักยภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ขับเคลื่อนระบบงานทั่วทั้งโรงเรียนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ลดภาระงานเอกสารของคุณครู รวบรวมจัดเก็บแผนการสอนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Lesson Plan) เพื่อความสะดวกในการใช้ง่าย รวมถึงมีการส่งเสริมแผนการเรียนทวิศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ทั้งวุฒิม.6และวุฒิปวช.ควบคู่กัน นอกจากนี้ยังมีกรอบการพัฒนาหลักสูตรด้านเศรษฐกิจ อาชีพ ภาษา สังคมและวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การเชื่อมโยงความรู้ ทักษะ เจตคติและสมรรถนะวิชาชีพให้ผู้เรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้
.
.
ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้เพิ่มงบเงินอุดหนุนรายหัว ลดการจัดอบรมครู และสนับสนุนการกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้โรงเรียนได้บริหารจัดการตนเองในเชิงพื้นที่ได้อย่างอิสระ คล่องตัว หลุดจากกรอบเดิมเพื่อเพิ่มการพัฒนาการศึกษา ต่อยอดการจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดย สกศ. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป
.