สกศ. เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ วางแผนศึกษา Case Study โรงเรียนขนาดเล็กคุณภาพ
วันนี้ (๒๑ เมษายน ๒๕๖๖) สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ โดย นายสกล กิตติ์นิธิ เป็นประธาน พร้อมด้วย คณะทำงาน ข้าราชการและบุคลากร สกศ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร ๒ ชั้น ๕ สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx
ที่ประชุมร่วมหารือ ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่อัตราการเกิดของเด็กทารกน้อยลงทุกปี โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีมาตรการควบรวบโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ แต่โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งยังคงรักษาโรงเรียนให้อยู่คู่กับชุมชน เนื่องจากเปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมในท้องถิ่น และมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกับโรงเรียนขนาดใหญ่ คือ นักเรียนมีจำนวนน้อย คุณครูจึงสามารถดูแลเด็กได้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ครูได้รู้ถึงพฤติกรรมและความถนัดของเด็ก
คณะทำงานได้เสนอแนวทางถอดบทเรียนโรงเรียนขนาดเล็กที่น่าสนใจ ได้แก่ โรงเรียนบ้านชมพู จ.น่าน โรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี และโรงเรียนหนองบัวชุม จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนให้สามารถดำเนินการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพจนเกิดการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาทิ นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน การเชื่อมโยงโรงเรียนกับชุมชนและท้องถิ่น ส่งผลให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เพื่อเป็น Model ต้นแบบ สู่การนำไปวางแผนในระดับนโยบายพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ สกศ. วางแผนลงพื้นที่ถอดบทเรียนการบริหารจัดการโรงเรียนพระดาบส ศึกษาการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ซึ่งมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยสร้างโอกาสแก่เด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์และไม่มีอาชีพในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ผ่านการสอนทักษะอาชีพควบคู่กับการสร้างให้มีคุณธรรม โดยผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้และเป็นคนดีของสังคม เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการเพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง