สกศ. หารือมาตรการลงทุนด้านการศึกษาระหว่างภาครัฐและเอกชน
วันนี้ (๑๙ เมษายน ๒๕๖๖) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิย์กุล) เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษา ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ โดยมี นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์ เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี อาคาร ๑ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Webex
.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษากำหนดแนวทางผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษาด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เป็นคณะที่ ๓ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะทำงานขับเคลื่อนวาระเร่งด่วนทางการศึกษา (Quick Win) มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาและวิเคราะห์สภาพการดำเนินงานการส่งเสริมการลงทุน/การสนับสนุนทางการศึกษา เพื่อจัดทำขัอเสนอแนวทางเกี่ยวกับมาตรและสิทธิพิเศษ รวมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นการส่งเสริมการลงทุน/การสนับสนุนทางการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ
.
คณะทำงานได้เสนอกรอบการดำเนินงานที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ๒ ส่วนสำคัญ คือ ๑) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ ๒) การสนับสนุนจากภาคอื่น ตามเป้าหมายการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนจากการ "ปลดล๊อค ต่อยอด และสร้างนวัตกรรม" เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเสนอข้อสรุปเบื้องต้นการลงทุนและบริหารจัดการการเงินเพื่อการศึกษาในอนาคต ตามหลักการการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายดังนี้ ๑) สร้าง Growth โดยการร่วมลงทุน/ให้เอกชนลงทุน ๒) สถานศึกษาลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้เลี้ยงตนเองได้ องค์กรต่าง ๆ สนับสนุน และสร้าง Equity ของระบบ
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อภิปรายร่วมกันอย่างกว้างขวางและให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ อาทิ ๑) ควรสร้างการรับรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผลประโยชน์ ความคุ้มค่าการลงทุนด้านการศึกษาให้กับภาคส่วนต่าง ๆ โดยการจัดกิจกรรม Road Show , การสัมมนา, มีช่องทางเผยแพร่ข้อมูล ๒) ควรมีต้นแบบ/ตัวอย่าง หรือมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการเขียนโครงการเพื่อเสนอของบประมาณ
.
ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อค้นพบและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ นำไปวิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป