สกศ. เร่งผลักดัน Lifelong Learning แนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วม

image

วันนี้ (๒๑ มีนาคม ๒๕๖๖) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะทำงานด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ โดยมี ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงาน และข้าราชการ สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม WebEx



การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการหารือวาระสำคัญที่มีการพิจารณา (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งมีที่มาจากการศึกษาวิจัยสภาพการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุในประเทศและแนวโน้มการจัดการศึกษาผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำมาสู่การจัดทำ(ร่าง)ข้อเสนอนโยบายฯ ใน ๒ ระดับ คือ ข้อเสนอระดับนโยบายและข้อเสนอระดับปฏิบัติ โดยได้อภิปรายอย่างกว้างขวางและให้ข้อเสนอแนะ อาทิ ๑) รูปแบบกลไกที่จะขับเคลื่อนต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางในระดับชาติเพื่อพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ ที่มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ๒) ควรมีหน่วยงานประกันคุณภาพการเรียนรู้ที่มีการกำกับ ติดตาม และดูแล ๓) ควรมีการผลิตบุคลากรที่จะดูแลผู้สูงอายุ ๔) ส่งเสริมให้มีพื้นที่การเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เช่น จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้และใช้ชีวิตแก่ผู้สุงอายุ ๕) กำหนดนโยบายการให้เครดิตการเรียนรู้ (Learning credit) เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้แทนค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการโดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออกให้ ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้สูงอายุควรได้รับ ๖) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายอาจนำแนวคิดของภาคธุรกิจมาปรับใช้ เช่น แนวคิดการแบ่งส่วนตลาดโดยมีการแบ่ง Segmentation เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม ๗) ประเด็นและเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้ เช่น การเตรียมตัวเข้าสู่ภาวะสุดท้ายของชีวิต

 


 


 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนประเด็นการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของ (ร่าง) กรอบตัวชี้วัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต กำหนดตัวชี้วัดจากผลการศึกษาและการเรียนรู้ ๔ ด้าน (มิติ ๓ ของดัชนีการศึกษาฯ) ดังนี้ ๑) ด้านสุขภาวะ ๒) ด้านการเงิน ๓) ด้านความเป็นพลเมือง และ ๔) ด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะว่า การจัดทำกรอบตัวชี้วัดอาจนำตัวอย่างกรอบแนวคิดการพัฒนามนุษย์ของ UNDP ซึ่งมีดัชนี HDI เป็นดัชนีชี้วัดระดับการพัฒนามนุษย์ และดัชนีทุนมนุษย์ของ world Bank เพื่อนำมาปรับใช้ให้ครอบคลุมผสมผสานทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก อีกทั้งยังต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพราะการศึกษาในอนาคตจะก้าวข้ามการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด