สกศ. อัปเดตงานพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ ปี’๖๖ สานพลังเครือข่ายเดินหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ ภาคใต้
วันนี้ (๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาส ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นประธานฯ ร่วมด้วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (ดร.ประวีณา อัสโย) คณะอนุกรรมการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม Cisco WebEx
.
วงประชุมหารือการดำเนินงาน ประเด็นเครื่องมือคัดกรองเด็กปฐมวัยที่มีภาวะความต้องการพิเศษ ด้อยโอกาส หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม รวมถึงเด็กออทิสติกและเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted) เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ได้ในฐานะเครื่องมือกลางของประเทศ การรายงานฐานข้อมูล (Big Data) โปรแกรมระบบจัดการข้อมูลพัฒนาการเด็กรายบุคคล (DSPM) ซึ่งค้นหาและเข้าช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาสได้ทันท่วงที ตลอดจนการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครูการศึกษาพิเศษ นักจิตวิทยา ครูประจำชั้น และผู้ให้คำปรึกษาให้พร้อมช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพที่สอดคล้องกับความบกพร่องของเด็กต่อไป
.
จากนั้น ที่ประชุมอัปเดตความก้าวหน้าการพัฒนา “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” ภายใต้ความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเล็งพื้นที่นำร่อง คือ เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา สู่การเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้หน่วยบริหารจัดการเด็กปฐมวัยที่จะขยายผลไปใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้เด็กปฐมวัยในภาคใต้ได้รับการคัดกรอง วินิจฉัย ช่วยเหลือ และพัฒนาอย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่แรกเกิด รวมถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศ สื่อสาธารณะ เพื่อสร้างองค์ความรู้ งานวิชาการ นวัตกรรมพัฒนางานด้านปฐมวัยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสถานะ ทันต่อการแก้ปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสังคม
.
ทั้งนี้ เด็กปฐมวัยเป็นช่วงสำคัญของการสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ ซึ่งต้องได้รับการพัฒนารอบด้านอย่างมีคุณภาพ ไปสู่การสร้างความร่วมมือลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาสให้พร้อมเรียนรู้และเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต
.