สกศ. ลงพื้นที่ดูงานซีมีโอ ศึกษาปัจจัยความสำเร็จ มุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน

image

วันนี้ (๘ มีนาคม ๒๕๖๖) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ (ดร.ปานเทพ ลาภเกษร) ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นางสาวกรกมล จึงสำราญ) พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และเก็บรวบรวมข้อมูลการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน โดยมี รองผู้อำนวยการด้าน Programme and Development (Mr.John Arnold Sasi Siena) รองผู้อำนวยการด้าน Administration and Communication (Ms. Pintip Lamnirath) และคณะให้การต้อนรับ ณ สำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ)

.

 

องค์การรัฐมนตรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีมีโอ (SEAMEO) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๑๑ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม พม่า และติมอร์ เลสเต้ และประเทศสมทบ ๗ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ คานาดา เยอรมันนี เนเธอร์แลน์ และสเปน และสมาชิกสมทบประเภทองค์การ ได้แก่ สภาระหว่างประเทศด้านการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัยสึคูบะแห่งประเทศญี่ปุ่น และบริติช เคาน์ซิล มีสำนักงานเลขาธิการองค์การซีมีโอ ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย และมีสภาซีเมค ประกอบด้วยรัฐมนตรีศึกษาของประเทศสมาชิก มีรัฐมนตรี ๑ คนเป็นประธาน และอยู่ในวาระครั้งละ ๑ ปี หมุนเวียนไป จุดมุ่งหมายของซีมีโอเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิก รวมทั้งผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ๑) คุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา ๒) สุขอนามัย และสาธารณสุข ๓) วัฒนธรรมและประเพณี ๔) เทคโนโลยีสารสนเทศ ๕) ภาษา ๖) การลดปัญหาความยากจน และ ๗) การเกษตรและทรัพยากรทางธรรมชาติ องค์การซีมีโอ ประกอบด้วย ๑) สภารัฐมตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๒) สำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ๓) ศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การซีมีโอ

.

 

จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน พบว่า สำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยผลักดันนโยบายเพื่อการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคและรับนโยบายจากที่ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษามาดำเนินการ โดยประสานความร่วมมือกับศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ กระทรวงศึกษาธิการของประเทศต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยข้องในด้านพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

.

 

การดำเนินงานของซีมีโอภายใต้ ๗ ประเด็นสำคัญด้านการศึกษา ประกอบด้วย ๑) การส่งเสริมการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย ๒) การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา ๓) การเตรียมความพร้อมการศึกษาเพื่อเผชิญกับสภาวะฉุกเฉิน ๔) การส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ๕) การปฏิรูประบบการพัฒนาครู ๖) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาและการวิจัย และ ๗) การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับเป้าหมายที่ ๔ ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน

.

 

นอกจากนี้ ซีมีโอยังให้ข้อเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในการทำงาน โดยผู้บริหารมีโนยายมุ่งเน้นการทำงานที่ต้องการให้พนักงานทุกคนมีความสมดุลในการใช้ชีวิต ไม่เกิดความเครียดในการปฏิบัติงาน เลือกทำงานให้น้อยลงและมีผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานมีความภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่เพราะงานที่ทำมีส่วนในการผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนา

.

 

สำหรับการลงพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานระยะที่ ๑ ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น ๔ ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ ๑ Good to Know เพื่อศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติจากหน่วยงานที่จัดทำนโยบายและแผนในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ระยะที่ ๒ Great to Share เพื่อศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กรเพื่อความยั่งยืนจากหน่วยงานเอกชน ระยะที่ ๓ Way to Forward เพื่อศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล และถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จ จากโรงเียนเครือข่ายขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ และขับเคลื่อนงานการมีส่วนร่วม และระยะที่ ๔ Roadmap to Future เพื่อทบทวน วางแผน และสรุปบทเรียนการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานฯ

.

 

ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ จะรวบรวมข้อค้นพบที่ได้จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และการถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จ นำไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และภารกิจของ สกศ. อีกทั้งยังจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านวิชาการและสังคมในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงปฏิบัติต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด