สกศ. ถกเข้มวางกรอบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

image

วันนี้ (๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖)  นายสกล กิตติ์นิธิ ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ พร้อมด้วย คณะทำงาน ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร ๒ ชั้น ๕ สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

.

การแต่งตั้งคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษา (นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตามคำสั่งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ที่ ๓/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มี นายสกล กิตติ์นิธิ เป็นประธานคณะทำงาน อำนาจหน้าที่มีดังนี้ ๑) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล สภาพปัจจุบัน ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ๒) รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงาน องค์กร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพื่อนำข้อมูลมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ๓) ถอดบทเรียนกรณีศึกษาหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค ร่วมกับหน่วยงาน/ภาคีเครือข่าย/หุ้นส่วนฯ เพื่อศึกษาสภาพพจริง เพื่อออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย ๔) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และ ๕) ดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

.

ที่ประชุมได้รายงานกรณีศึกษาการบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ได้ดำเนินงานเมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนกันยายน ๒๔๖๔ จากกรณีศึกษา ๔ จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดน่าน (ซึ่งเป็นพื้นที่สูง พื้นที่ห่างไกล) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดเลย (ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร) ภาคตะวันออก ที่จังหวัดจันทบุรี (ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ น้ำทะเลท่วมถึง) และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ พื้นที่ห่างไกล) ปรากฎข้อเสนอแนะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้ ๑) แก้กฎหมาย กฎระเบียบ ๒) ปรับหลักสูตร เน้นทักษะที่จำเป็น ๓) ปรับการวัดและประเมินให้เหมาะสมตามบริบท ๔) สร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในพื้นที่ ๕) บูรณาการข้อมูลสารสนเทศการศึกษา และ ๖) พัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา

.

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อภิปรายอย่างกว้างขวางและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของคณะทำงานฯ อาทิ ควรกำหนดกรอบ ประเด็น และขอบเขตการดำเนินงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ชัดเจน ซึ่งเป็นการต่อยอดการทำงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการเลือกประเด็นสำคัญที่ทำมาแล้วจากกรณีศึกษา ๔ จังหวัดข้างต้น และอาจศึกษาวิเคราะห์จังหวัดร้อยเอ็ดเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไป

.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด