อนุกรรมการ ฯ กกส. รีแคปผลประเมินการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ วางทางไปต่อพัฒนาระบบติดตามข้อมูลการศึกษา
วันนี้ (๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๕) สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านประเมินผลการจัดการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ โดยมี นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ.
.
ข้อมูลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ สู่การปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ที่ ๒ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อยู่ในระดับมีความก้าวหน้ามากที่สุด และยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ อยู่ในระดับมีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยพบปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ จำนวนตัวชี้วัดมากเกินไปและตัวชี้วัดบางตัวมีความเป็นนามธรรมสูง ยากต่อการนำไปสู่การปฏิบัติ และยังไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว สกศ. ได้รับข้อเสนอแนะด้านการทบทวนตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกับสถานศึกษาที่มีบริบทต่างกัน และควรพัฒนาการบันทึกข้อมูล (Big Data) ที่เป็นระบบ เพื่อเผยแพร่ผลการประเมินให้สาธารณชนทราบ
.
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา ๘ เรื่อง ได้แก่ ๑) ข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ๒) แนวทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ๓) แนวทางการประเมินผลการศึกษาทั้งระบบให้มีความสอดคล้องทุกระดับการศึกษา ๔) ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดตั้งศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ (National Bureau of Education Statistics) ๕) สรุปสาระสำคัญ รายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๒ ๖) รายงานการติดตามการนำมาตรฐานของชาติสู่การปฏิบัติ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๓ ๗) รายงานสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี ๒๕๖๕ (IMD ๒๐๒๒) และ ๘) แนวทางการจัดทำดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๓
.
คณะอนุกรรมการ ฯ กกส. ด้านการประเมินผลการจัดการศึกษา ตั้งข้อสังเกตแนวทางการดำเนินงานระยะเร่งด่วน โดยให้การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ดำเนินงานเชื่อมโยงกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนสำหรับหน่วยงานปฏิบัติที่ต้องกรอกข้อมูล รวมทั้งเห็นชอบขอบเขตการดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบเรื่องอื่น ๆ อาทิ คำสั่งสภาการศึกษาที่ ๑/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา เป้าหมายตัวชี้วัดของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ และการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ ในระยะ ๕ ปีแรกของแผน (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔)