สกศ. ร่วมประชุม AQRF Committee ครั้งที่ ๑๑ ยกระดับพัฒาคุณภาพการศึกษาไทย-เชื่อมโยงการทำงานสู่อาเซียน
วันนี้ (๗ ธันวาคม ๒๕๖๕) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ครั้งที่ ๑๑ (11th AQRF Committee Meeting) โดยมี Professor.Dr.Khairul Salleh Mohamed Sahari เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ (ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม) กรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น ๒ อาคาร ๑ สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams Meeting
.
การประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ครั้งที่ ๑๑ (11th AQRF Committee Meeting) จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗ -๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ โดยมีกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนจาก ๑๐ ประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศบรูไน ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศเมียนมาร์ ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม ที่ประชุมได้รายงานแผนการดำเนินงานการจัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ - ๒๐๒๕ กิจกรรมการสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคนิค กระบวนการดำเนินงาน และการประกันคุณภาพตามกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน นอกจากนี้ มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศสมาชิกที่ผ่านการรับรองกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนแล้ว ๔ ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทย
.
ในส่วนความก้าวหน้าในการดำเนินการของประเทศไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษาได้อย่างคล่องตัว แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการศึกษาในแต่ละระดับ ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายที่มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ได้เตรียมการจัดตั้งหน่วยงานกลางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และการมีงานทำของคนในประเทศ โดยพัฒนาเป็นระบบแห่งชาติที่สามารถเชื่อมโยงธนาคารหน่วยกิตของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการมีหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์สะสมหน่วยกิตในพื้นที่ ให้สามารถเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา
.
สำหรับ คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้เห็นชอบระบบการขึ้นทะเบียนและรับรองหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนและหลักสูตรฝึกอบรม โดยได้จัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งปรากฎบนเว็บไซต์ thailandnqf.org
.
นอกจากนี้ ในส่วนของการอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบการสะสมและเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษา จำนวน ๒ ฉบับ ได้แก่ ๑) แนวทางการดำเนินงานคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๕ และ ๒) หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พ.ศ ๒๕๖๕ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ของการศึกษาทั้งสามระบบได้