สกศ. มุ่งสู่อีสาน ส่งเสริมจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF และAQRF
วันนี้ (๒๙ กันยายน ๒๕๖๕) สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่จัดประชุมเพื่อจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ โดย เลขาธิการสภาการศึกษา(ดร.อรรถพล สังขวาสี) มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิย์กุล) เป็นประธานเปิดการประชุม ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี (นายเสรี ตุ้มอ่อน) กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บริหาร/ผู้รับใบอนุญาต/ครูจากโรงเรียนเอกชนนอกระบบในพื้นที่ภาคอีสานและทั่วประเทศ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ๗ จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธรร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอำนาจเจริญ วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ๕ แห่ง จากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ วารินชำราบ ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร เข้าร่วมประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี
นางรัชนี พึ่งพาณิย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (ผอ. สนผ.) กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นการมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ ทั้งนี้ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยง เทียบเคียง และเทียบโอนระหว่างคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานอาชีพ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ
"การประชุมครั้งนี้เป็นการบูรณาการขับเคลื่อนงานของกระทรวงศึกษาธิการในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศด้วยระบบคุณวุฒิแห่งชาติ โดย สกศ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) มุ่งเน้นให้ผู้รับใบอนุญาต นำกระบวนการและหลักการในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนนอกระบบที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงขยายผลแนวทางการดำเนินงานไปยังสถาบันการศึกษาในสังกัด สอศ. ที่เปิดการสอนหลักสูตรระยะสั้นต่อไป" ผอ. สนผ. กล่าว
ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโลกของงาน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยี โครงสร้างของงาน ธรรมชาติของงาน ที่ตั้งและกระบวนการทำงาน แนวโน้มความต้องการกำลังคนที่มีทักษะที่จำเป็น ได้แก่ พหุทักษะ ทักษะการสื่อสาร มีความยืดหยุ่น มีวินัย สามารถทำงานเป็นทีม มีทักษะการคิด สามารถใช้ ICT มาตรฐานสากล และสามารถแก้ปัญหาได้ เป็นต้น กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework หรือNQF) เป็นการสร้างความเชื่อมโยงของระบบคุณวุฒิการศึกษาของประเทศกับระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานภายใต้กรอบผลลัพธ์การเรียนรู้ ๘ ระดับ โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของบุคคล เปิดโอกาสให้มีการประเมินเพื่อเทียบโอนประสบการณ์ และการเรียนรู้นอกระบบ เพื่อเพิ่มพูนคุณวุฒิการศึกษาที่ต้องการอีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วย ในส่วนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework หรือ AQRF) เป็นกรอบที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และจัดประเภทคุณวุฒิ โดยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิระดับภูมิภาค เพื่อใช้เป็นกรอบแกนกลางในการอ้างอิงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศสมาชิกหนึ่งกับอีกประเทศสมาชิกหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยได้รับการรับรองการเทียบเคียงอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา
"การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน หวังว่ากรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้จะเป็นกลไกสำคัญต่อการยกระดับการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีสมรรถนะ (Competency) มีทักษะและศักยภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้ต่อไป" ดร. ศิริพรรณ กล่าว
ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สกศ. กล่าวว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) เป็นกรอบแนวทางการเชื่อมโยงระดับคุณวุฒิของประเทศโดยยึดตามระดับสมรรถนะของบุคคลที่เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ การศึกษา การฝึกอบรม จากกรอบคุณวุฒิทางการศึกษาและประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการทำงาน ซึ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ ประกอบด้วย ๑) ความรู้ ๒) ทักษะ และ ๓) ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะและความรับผิดชอบ
สกศ. ดำเนินการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติตามแผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ ประกอบด้วย ๕ กลยุทธ์ ดังนี้กลยุทธ์ที่ ๑ เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ กลยุทธ์ที่ ๒ จัดทำต้นแบบการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กลยุทธ์ที่ ๓ เสริมสร้างความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยว้องในการดำเนินงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กลยุทธ์ที่ ๔ เชื่อมโยงคุณวุฒิในสาขาอาชีพที่จำเป็นสำหรับการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยกับประเทศอาเซียนและระดับสากล และกลยุทธ์ที่ ๕ จัดทำ ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้ คาดหวังให้ตอบโจทย์กลยุทธ์ที่ ๒ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีเป้าหมายต้องการพัฒนา "หลักสูตร" ให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ โดยสามารถเทียบเคียง "ระดับคุณวุฒิ" กับ "กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ" และสามารถนำคุณวุฒิจากประกาศนียบัตรไปศึกษาต่อเพื่อรับ "คุณวุฒิการศึกษา" ในระดับสูงขึ้นได้" ดร.กาญจนา กล่าว
นายนที ราชฉวาง ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยีการฝึก สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แบ่งออกเป็น ๓ ภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย ๑) พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน ได้แก่ พัฒนาและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติกำหนดอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือ ทดสอบฝีมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ จัดการแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับชาติ อาเซียน นานาชาติ เป็นต้น ๒) ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ได้แก่ พัฒนาทักษะฝีมือให้กับกลุ่มแรงงานใหม่ กลุ่มแรงงานที่มีงานทำอยู่แล้ว กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้นและ ๓) ส่งเสริม/พัฒนาเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้แก่ ส่งเสริมให้นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ควบคุมกำกับดูแลการประกอบอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร หรือส่วนราชการต่าง ๆ เป็นต้น ประเภทการฝึก แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ๑) การฝึกเตรียมเข้าทำงาน มีกลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะแก่ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพ ๒) การฝึกยกระดับฝีมือ มีกลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานในระบบ/นอกระบบ ผู้มีงานทำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเติม/ยกระดับทักษะ และ ๓) การฝึกอาชีพเสริม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีงานทำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ทักษะในสาขาอาชีพนอกเหนือจากที่ทำอยู่ปกติ
นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. มีหน้าที่หลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพโดยกลุ่มคนในอาชีพ และการให้การรับรองสมรรถนะเพื่อย้ำความเป็นมืออาชีพที่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด เป็นการสร้างโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามแนวทางที่เป็นสากล รวมถึงเป็นศูนย์กลางเครือข่ายข้อมูลสสารสนเทศเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนของประเทศด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ สคช. ได้ขับเคลื่อนการจัดการฝึกอบรมตามหลักสูตรฐานสมรรถนะด้วยสื่อการฝึกอบรมโดยพัฒนาระบบนวัตกรรมการเรียนรู้สมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TPQI E-Training ซึ่งจัดทำชุดฝึกอบรมสำหรับสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพในการเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ทั้งนี้ต้องการให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://e-training.tpqi.go.th
ดร.ศรายุทธ ทองอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าววว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากทางเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI), Machine Learning, Automation ถูกนำเข้ามาใช้มากขึ้นในหลายๆ ภาคส่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ และที่สำคัญคือถูกนำมาใช้แทนที่แรงงานมนุษย์ ดั้งนั้นจึงมีความจำเป็นที่มนุษย์ต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะเพื่อให้ทันกับลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายผลการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมี ๙ สาขานำร่อง ในวิทยาลัยเครือข่ายที่เปิดสอนสาขาอาชีพ ๙ สาขา ดังนี้ ๑) โลจิสติกส์โครงสร้าง ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ๒)โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ๓) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ๔) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ที่วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ๕) พลังงาน และพลังงานทดแทน ที่วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ ๖) อาหาร ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา ๗) เกษตร ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ๘) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ที่วิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี และ ๙) แม่พิมพ์/เครื่องมือทางการแพทย์ ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม
นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย มีการนำเสนอ "กรณีตัวอย่างการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนนอกระบบ" โดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตตินันท์ ครุฑพงษ์ ประธานกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ปส.กช.) จังหวัดนครสวรรค์ ดร.วิไลวรรณ วรรณโชติผาเวช ผู้แทนผู้บริหารคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และประธาน ปส.กช. จังหวัดเชียงใหม่ และนางเพ็ญพักตร์ กอแก้ว ประธาน ปส.กช. จังหวัดมุกดาหาร และการ และการนำเสนอ "การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนนอกระบบ" โดยดร.ประยูร หรั่งทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในการยกระดับสมรรถนะกำลังคนของประเทศด้วยหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อรองรับระบบการขึ้นทะเบียนและรับรองหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม