สกศ. ลุย Workshop ถอดบทเรียน ๓ จังหวัดนำร่อง ผลักดันเป็น Model การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
วันนี้ (๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕) สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนและสรุปผลการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยมีผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาฯ (นางประวีณา อัสโย) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานร่วมประชุม ณ ห้องประชุมบุษบงกช โรงแรมรอยัลริเวอร์ บางพลัด กรุงเทพฯ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID - 19)
การประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียน และสรุปผลการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา นำร่องการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสู่ระดับตำบลโดยถอดบทเรียนและสรุปผลจากกรณีศึกษา ๓ พื้นที่หลัก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ชัยภูมิ และพังงา ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและเชิงพื้นที่ผ่านผู้แทนจากพื้นที่นำร่องดังกล่าว ผู้บริหาร ข้าราชการ สกศ. และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการมีส่วนร่วมและสมัชชาการศึกษา
ช่วงเช้ามีการเสวนา และนำเสนอผลการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมฯ รวมถึงจัดทำข้อเสนอว่าด้วยบทบาทของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดย อาจารย์ ดร.รวิช ตาแก้ว ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา หริมเทพาธิป อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จากการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมฯ นั้น มีแนวคิดหลักในการสร้างพื้นที่กลางร่วมกันของประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ สร้างผู้มีส่วนร่วมหรือแกนนำ สรรหาแนวร่วมภาคีเครือข่าย โดยได้จัดทำตัวแบบ (Model) การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ๓ รูปแบบ ได้แก่ ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในระดับตำบลจะเป็นตัวสะท้อนระดับอำเภอและจังหวัด จึงได้ตั้งเป้าพัฒนา Model ระดับตำบลขับเคลื่อนโรงเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างมีประสิทธิภาพ มีการสร้างภาคีเครือข่ายเป็นกลไกหลักที่ส่งผลต่อความสำเร็จในกาสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อเป้าหมายในการสร้างคนให้รักบ้านเกิด และช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา
อีกทั้ง ช่วงบ่าย สกศ. ได้จัดการประชุมในรูปแบบเชิงปฏิบัติการนำเสนอการดำเนินการจัดการศึกษาของพื้นที่และแผนที่จะดำเนินการในอนาคต รวมถึงถอดบทเรียนการดำเนินงาน อภิปราย และให้ข้อคิดเห็นต่อผลการศึกษา จากผู้แทนสภาการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ผู้แทนสภาส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะชีวิตเด็กและเยาวขนจังหวัดชัยภูมิ และผู้แทนภาคีเครือข่ายการศึกษาจังหวัดพังงา โดย จังหวัดกาญจนบุรี มีสมาคมสภาการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ทำงานร่วมกับภาคี และองค์กรชุมชน มุ่งขับเคลื่อนการศึกษานอกระบบ การเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการและตามอัธยาศัยควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบ เน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา “เด็กได้เรียน” มุ่งจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับคนและชุมชน จังหวัดชัยภูมิ มีสภาส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิ ตั้งเป้าพัฒนาคนให้เป็น “คนดี มีปัญญา พึ่งพาตนตนได้” ด้วยกลไก ๕ นักขับเคลื่อน สร้างสรรค์กิจกรรมจิตอาสา สร้างกลุ่มเครือข่ายส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในจังหวัดให้รักท้องถิ่นสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ และ จังหวัดพังงา มีคณะอนุกรรมการพัฒนาการศึกษาจังหวัดพังงา มุ่งขับเคลื่อน “การเรียนรู้อย่างมีความสุข” พัฒนาคนให้สุขกาย สุขใจ สุขจิตวิญญาณ สร้างกลยุทธ์จากแก่นแท้ของคนพังงาในการจัดการทรัพยากรทางการศึกษา การคิดกล้าตัดสินใจ และการมีส่วนร่วม ให้คุณค่ากับเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายพร้อมนิเวศการเรียนรู้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะจาก ดร.วัลภา เล็กวัฒนานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการมีส่วนร่วมและสมัชชาการศึกษา โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ. …. ให้เน้นเรื่องการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้เกิดแนวการปฏิบัติ รัฐต้องอำนวยความสะดวกและสนับสนุนงานโครงการอย่างเต็มที่ เพิ่มการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคมมากขึ้น ผลักดันกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ และมีความยั่งยืนต่อเนื่อง
รูปภาพเพิ่มเติม Facebook "ข่าวสภาการศึกษา"
https://web.facebook.com/media/set/?vanity=OECCHANNEL&set=a.8241074275904426