สกศ.ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาวิจัยมาตรการและรูปแบบการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน ครั้งที่ ๔ ณ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการศึกษาโดย นางโชติกา วรรณบุรี ผอ.กลุ่มนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติและขรก.กลุ่ม ร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศึกษาวิจัย เรื่อง มาตรการและรูปแบบการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของภาคเหนือ โดย รร.นำร่องในเขตพื้นที่นวัตกรรม จ.เชียงใหม่ มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมทวิภาษาและพหุภาษามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากผู้เรียนในพื้นที่จ.เชียงใหม่มีลักษณะหลากหลายชาติพันธุ์ (๘-๙ ชาติพันธุ์) และการส่งเสริมอาชีพ บูรณาการการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เน้นสมรรถนะด้านการจัดการตนเอง การคิดวิเคราะห์ โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดการศึกษาของจังหวัด เพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐานและยกระดับคุณภาพผู้เรียน ภายใต้ปณิธานหลัก คือ 'พลเมืองเชียงใหม่ รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพ
ในการลงพื้นที่ ได้ร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาของการกระจายอำนาจการบริหารจัดการการศึกษากับสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษาทั้งในกลุ่มโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนทั่วไป การเยี่ยมชมและสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ และนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่ เช่น โรงเรียนบ้านแม่สา โรงเรียนบ้านพระนอน โรงเรียนบ้านพันตน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของสถานศึกษาที่มีแนวปฏิบัติที่ดีด้านความเป็นอิสระของาถานศึกษา ได้มีการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียน ๒ แห่ง ดังนี้
๑. โรงเรียนบ้านพระนอน อ.แม่ริม (ดร. ณรงค์ อภัยใจ) รร.นำร่องฯ มีความโดดเด่นด้านการจัดศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของ อบจ. ภาคเอกชน และชุมชน จัดการเรียนการสอนโดยเน้นสมรรถนะการจัดการตนเอง และบูรณาการสมรรถนะอื่นๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ
๒. โรงเรียนบ้านพันตน อ.แม่วาง (ผอ.กุญช์ภัสส์ พงษ์พานิชย์) รร.นำร่องฯที่มีความโดเด่นด้านการ มุ่งเน้นสมรรถนะด้านการคิดวิเคราะห์ โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน คือ บริษัทซันสวีท จำกัด ที่ให้ความร่วมมือด้านวิทยากรสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวโพด ซึ่งป็นพืชเศรษฐกิจประจำชุมชน รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการส่งปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบริบทและอัตลักษณ์ชองชุมชนให้ผู้เรียนร่วมกับครูประจำโรงเรียน เป็นต้น
ภาพและข่าวเพิ่มเติม Facebook Fanpage ข่าวสภาการศึกษา >>
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=OECCHANNEL&set=a.7957023810976142