สกศ. ลงใต้กระบี่-พังงา ติดตามการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการจัดนิเวศการเรียนรู้

image

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม - ๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม นำทีมโดยผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นางประวีณา อัสโย) ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสำเนา เนื้อทอง และดร.วัลภา เล็กวัฒนานนท์ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (นางสาวกรกมล จึงสำราญ) และข้าราชการ สกศ. ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านไสไทย ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และโรงเรียนบ้านตากแดด ตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา

การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่ ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สู่การจัดทำข้อเสนอว่าด้วยบทบาทการมีส่วนร่วมของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมตามแนวคิดการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต


วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านไสไทย จ.กระบี่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลไสไทย สถานศึกษาต้นแบบด้านการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมด้วย "SAITHAI MODEL" มุ่งพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพด้วยการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างทันสมัย ก้าวไกลสไตล์รีสอร์ท บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมแก้ปัญหา ยกนวัตกรรมเด่น "การเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยแนวคิดคนขับเรือหางยาว" (Learning English by long tail boat driver) เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและกล้าแสดงออกในการสื่อสารภาษาอังกฤษ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ตอบสนองบริบทและทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น "เมืองท่องเที่ยวคุณภาพเกษตรอุตสาหกรรมยั่งยืน สังคมน่าอยู่" ด้วยความร่วมมือของชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล สถานประกอบการ คณะกรรมการสถานศึกษาอย่างเข้มแข็ง


นอกจากนี้สถานศึกษายังได้จัดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนตอบโจทย์คุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ (DOE) ได้แก่ ผู้เรียนรู้ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยอาศัย ๖ ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ๑) การเปลี่ยนกรอบความคิด ๒) ความพร้อมของบุคลากรและองค์กร ๓)สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยียุคใหม่ ๔)วิธีการเรียนรู้และเนื้อหาการเรียนรู้ ๕)วัฒนธรรมการเรียนรู้ และ ๖) ความยืดหยุ่นและทางเลือกที่หลากหลายในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป 


.
.
.

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านตากแดด จ.พังงา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชน คือ กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) ต้นแบบสถานศึกษาการมีส่วนร่วมกับชุมชน ต้นแบบสถานศึกษาพอเพียง และการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนวัตกรด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวไร่ดอกข่า เป็นสถานศึกษาขนาดเล็กแห่งเดียวในชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนและเอกชน เรียกได้ว่า “โรงเรียนเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างชุมชน ผู้ปกครอง หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในและนอกพื้นที่” สถานศึกษามีจุดเด่นเรื่องการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ “ข้าวไร่ดอกข่า” ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่สถานศึกษาและถือได้ว่าเป็นวิสาหกิจของชุมชนที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ทั้งผู้เรียนและสมาชิกในชุมชนโดยรอบ ทั้งยังเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะพื้นฐานที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นนวัตกรหรือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมและพลเมืองที่เข้มแข็งตอบโจทย์มาตรฐานการศึกษาของชาติและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ


ทั้งนี้ รูปแบบการมีส่วนร่วมเกิดจากทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกพื้นที่ โดยโรงเรียนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนประชารัฐของ "CONNEXT ED" โดยการสนับสนุนของบริษัทในเครือเซ็นทรัล (Central Group) ส่งผลให้ปัจจุบันมีพื้นที่ในการปลูกข้าวไร่ดอกข่ามากกว่า 4 – 5 ไร่ และส่งไปยังห้างสรรพสินค้าในเครือ Central Group มากถึง 400 – 500 กิโลกรัม รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากบริษัท ทรูคอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตลอดจนเป็น Best Practice ของสถานศึกษาพอเพียง และมีการจัดฐานการเรียนรู้มากมายอีกด้วย

.

.

.

วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ประชุมติดตามการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่ ครั้งที่ ๒ ณ ห้องประชุมนางหงส์ โรงแรมเลอ เอราวัณ พังงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 

การประชุมในครั้งนี้มี ๕ นักขับเคลื่อน ได้แก่ นักยุทธศาสตร์  นักวิชาการ นักจัดการ นักประสาน และนักสื่อสาร รวมถึงภาคีเครือข่ายการศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ครูและนักเรียนของโรงเรียนนำร่อง (ระดับตำบล) คือ โรงเรียนบ้านตากแดด ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เข้าร่วมประชุมติดตามการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่ 

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดพังงา มุ่งเป้าพัฒนาการศึกษาไปสู่  “LEARNING HAPPINESS SOCIETY” สุขกาย สุขใจ สุขจิตวิญญาณ ด้วยกลไก ๕ นักขับเคลื่อน บน ๔ เสาหลัก คือ “การเรียนรู้แนวใหม่” บนหลักสุนทรียศาสตร์ที่ตอบโจทย์คุณลักษณะของคนพังงา “โรงเรียนคู่ท้องถิ่น” จัดการศึกษาได้ตามสาระความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ “การศึกษาที่เติบโตและเป็นเลิศเฉพาะด้าน” บนกรอบความคิดทางการศึกษาที่ยืดหยุ่น และ “ทางเลือกการศึกษานอกระบบที่หลากหลาย” ระบบสนับสนุน หลักสูตรเฉพาะทางที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน

ภาพและข่าวเพิ่มเติม Facebook Fanpage ข่าวสภาการศึกษา >> 
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านไสไทย จ.กระบี่ 
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=OECCHANNEL&set=a.7889784027700121

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านตากแดด จ.พังงา 
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=OECCHANNEL&set=a.7890436230968234

วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๕

https://web.facebook.com/media/set/?vanity=OECCHANNEL&set=a.7897102083634982

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด